แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลงว่าเมื่อทางธนาคารให้ไถ่ถอนวันใด ผู้จะขาย (จำเลย) จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อ (โจทก์) ในวันเดียวกัน หมายถึงการที่ธนาคารยอมให้ไถ่ถอนจำนองในจำนวนหนี้ที่ถูกต้องด้วย เมื่อปรากฏว่าจำนวนหนี้ที่ธนาคารยอมให้จำเลยชำระเพื่อไถ่ถอนจำนองยังมีข้อพิพาทโต้เถียงเป็นคดีความกันอยู่ ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นจำนวนหนี้ที่ถูกต้องหรือไม่จะถือว่าธนาคารยอมให้ไถ่ถอนจำนองแล้วหาได้ไม่ การที่จำเลยได้ดำเนินการเพื่อไถ่ถอนจำนองที่พิพาทแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องเนื่องจากมีข้อโต้แย้งกับธนาคารผู้รับจำนองอยู่เช่นนี้ ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์อันจะถือเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2530 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10555 ตำบลนาดี (บางปิ้ง) อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร ของจำเลยให้แก่โจทก์ในราคา 1,320,000 บาทโจทก์วางเงินมัดจำ 50,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันนั้น มีข้อสัญญาว่าเมื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร ผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวให้ไถ่ถอนจำนองวันใด จำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันนั้น ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2530 ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสมุทรสาคร ได้ตกลงตามที่จำเลยขอไถ่ถอนจำนองโดยให้ไถ่ถอนจำนองในวงเงิน 805,000 บาท แต่จำเลยหาได้ไปไถ่ถอนจำนองไม่โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง แต่จำเลยก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดที่ 10555 จากธนาคาร แล้วโอนให้แก่โจทก์และรับชำระราคาที่เหลือ 1,270,000 บาท จากโจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยจำนองที่พิพาทแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสมุทรสาคร เป็นเงิน 390,000 บาท เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2530จำเลยได้ฟ้องธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร ขอไถ่ถอนจำนองที่พิพาทในวงเงิน 390,000 บาท ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 569/2530 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเนื่องจากจำเลยกำลังดำเนินการใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองอยู่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือเป็นเงิน 1,270,000 บาท จากโจทก์แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10555 แก่โจทก์โดยปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2521 จำเลยจำนองที่พิพาทแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร เพื่อเป็นประกันหนี้ของนายทองพูล ปลั่งศิริ ในวงเงิน 390,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่21 เมษายน 2530 จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคา1,320,000 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมายจ.1 จำเลยได้ฟ้องธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร ขอไถ่ถอนจำนองที่พิพาทในจำนวนเงิน 390,000 บาท คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงยังมิได้ไถ่ถอนจำนองและมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ ในกรณีดังกล่าวถือว่าจำเลยผิดสัญญาแล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้ขอชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาสมุทรสาคร เพื่อไถ่ถอนจำนองที่พิพาทจากธนาคารดังกล่าวแล้วแม้ว่าจำเลยจะได้ฟ้องธนาคารเพื่อไถ่ถอนจำนองเป็นเงินเพียง 390,000บาท ซึ่งเท่ากับวงเงินจำนองเท่านั้น และการจำนองที่พิพาทนี้เป็นประกันหนี้รวมถึงดอกเบี้ยด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่ธนาคารมีจำนวนที่ถูกต้องเท่าใดที่นายประเสริฐ ลีวานันท์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกฎหมายธนาคารกรุงไทย จำกัด เบิกความว่า จำเลยเป็นหนี้จำนอง875,000 บาท นั้น เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้อะไร ต้นเงินเท่าใด ดอกเบี้ยเท่าใด อัตราดอกเบี้ยเท่าใดคิดคำนวณถูกต้องหรือไม่อย่างไร ทั้งจำเลยก็โต้เถียงว่าธนาคารคิดคำนวณจำนวนหนี้ไม่ถูกต้อง และได้ความว่าจำเลยจำนองที่พิพาทเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นไม่แน่ว่าจำเลยทราบรายละเอียดแห่งหนี้ถูกต้องหรือไม่ จะฟังว่าจำเลยฟ้องธนาคารขอให้รับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทต่ำกว่าหนี้ที่มีอยู่จริงโดยเจตนาไม่ให้ไถ่ถอนจำนองได้สำเร็จเสียทีเดียวหาได้ไม่ ส่วนกรณีที่ต่อมาจำเลยยื่นข้อเสนอต่อธนาคารขอชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพิ่มเป็นเงินจำนวน600,000 บาท แต่ธนาคารอนุมัติให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองได้เป็นเงิน 805,000 บาท นั้นก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่จะฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นหนี้จำนองถึง 600,000 บาท หรือ 800,000 บาทเศษ เพราะอาจเป็นการขอประนีประนอมเพื่อให้มีการไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นไปอันอาจถือได้ว่าจำเลยพยายามไถ่ถอนจำนองที่พิพาทให้สำเร็จเพื่อจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ต่อไปตามสัญญาก็ได้ และข้อความตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ว่า เมื่อทางธนาคารกรุงไทยให้ไถ่ถอนวันใด ผู้จะขายจะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อในวันเดียวกัน นั้น ย่อมหมายถึงการที่ธนาคารยอมให้ไถ่ถอนจำนองในจำนวนหนี้ที่ถูกต้องด้วย เมื่อปรากฏว่าจำนวนหนี้ที่ธนาคารยอมให้จำเลยชำระเพื่อไถ่ถอนจำนองยังมีข้อพิพาทโต้เถียงเป็นคดีความกันอยู่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นจำนวนหนี้ที่ถูกต้องหรือไม่ จะถือว่าธนาคารยอมให้ไถ่ถอนจำนองแล้วหาได้ไม่ การที่จำเลยได้ดำเนินการเพื่อไถ่ถอนจำนองที่พิพาทแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องเนื่องจากมีข้อโต้แย้งกับธนาคารผู้รับจำนองอยู่ดังกล่าวเช่นนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์อันจะถือเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.