คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีรายได้จากการค้ามันอัดเม็ด โจทก์เสียภาษีประจำปีพ.ศ.2519 ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกให้โจทก์ส่งบัญชีและหลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีเพื่อตรวจสอบเงินได้ประจำปีโจทก์ให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า ไม่สามารถส่งหลักฐานเพราะไม่ได้จัดทำบัญชีไว้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้ที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2519 โดยคิดหักค่าใช้จ่ายเทียบเคียงกับการหักค่าใช้จ่ายแบบการเหมาในอัตราร้อยละ85 ตามมาตรา 8 ข้อ 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 โจทก์ก็ยอมรับโดยไม่โต้แย้ง ถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิในการที่จะนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรมากกว่าที่ถูกหัก การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงถือได้ว่าเป็นการหักค่าใช้จ่ายให้ตามความจำเป็นและสมควรและเป็นการประเมินที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2519 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลธรรมดาประกอบอาชีพค้าขายโดยตั้งโรงงานมันอัดเม็ด ปี พ.ศ. 2519 โจทก์มีรายได้จากการขายมันอัดเม็ด 11,346,987 บาท โจทก์ยื่นแบบรายการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2519 ระบุว่ามีเงินได้พึงประเมิน 250,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วคงเหลือเงินได้สุทธิที่จะต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 32,500 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย 2,950 บาท และโจทก์ได้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินประจำสำนักงานสรรพากรจังหวัดชลบุรีสงสัยว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องจึงหมายเรียกโจทก์ไปตรวจสอบพร้อมกับให้นำบัญชี เอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีและบัญชีเงินฝากธนาคารไปส่งมอบเพื่อตรวจสอบด้วย ครั้งแรกโจทก์มอบอำนาจให้นางกิมตึ้ง แซ่ตั๊น ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดชลบุรีตามคำให้การเอกสารหมาย ล.5หลังจากนั้นโจทก์ก็ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดชลบุรี ตามคำให้การเอกสาร หมาย ล.4 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2519 เป็นเงิน842,928.83 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรอีก 167,995.77 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่โจทก์ต้องเสียทั้งสิ้น1,010,924.60 บาท แต่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว 2,950 บาท โจทก์จึงต้องเสียภาษีอีกเป็นเงิน 1,007,974.60 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา เจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดชลบุรีของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบพบหลักฐานว่าโจทก์มีเงินได้มากกว่า 250,000 บาท โดยมีเงินได้จากการขายมันอัดเม็ด 11,346,947 บาท นายสมบูรณ์ ไพบูลย์ศิริ เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีที่ต้องจัดทำตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และ/หรือบัญชีที่ต้องจัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด รวมทั้งหลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีและบัญชีเงินฝากธนาคารทุกธนาคารจำนวนพ.ศ. 2519 ไปส่งมอบเพื่อการตรวจสอบ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 23โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางกิมตึ้ง แซ่ตั๊น ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมิน นางกิมตึ้งให้การว่าโจทก์ไม่ได้จัดทำบัญชีที่ต้องจัดทำตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515และบัญชีที่ต้องจัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด จึงไม่สามารถส่งหลักฐานเอกสารให้ตรวจสอบซึ่งต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2521โจทก์ได้ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินอีกว่าไม่สามารถส่งหลักฐานเพราะไม่ได้จัดทำบัญชีไว้ การที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้มีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมายจ.4, จ.5, จ.9, จ.10/1, จ.10/2 และ จ.10/3 แต่เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกให้โจทก์ส่งบัญชีอย่างเดียวไม่ได้เรียกให้ส่งหลักฐานโจทก์จึงไม่ได้ส่งให้ ศาลฎีกาได้ตรวจหมายเรียกเอกสารหมาย ล.2 แล้วปรากฏว่าในหมายเรียกระบุให้โจทก์ส่งบัญชีและหลักฐาน เอกสารประกอบการลงบัญชี เพื่อตรวจสอบเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2519 ของโจทก์ถ้าโจทก์มีหลักฐานจริงก็น่าจะส่งให้เจ้าพนักงานประเมิน แต่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทำบัญชีไว้ จึงไม่สามารถส่งหลักฐานได้และขอให้เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาถือได้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้ที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2519และคิดหักค่าใช้จ่ายโดยเทียบเคียงกับการหักค่าใช้จ่ายแบบการเหมาในอัตราร้อยละ 85 ตามมาตรา 8 ข้อ 23 แห่งพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 จึงถือได้ว่าเป็นการหักค่าใช้จ่ายให้ตามความจำเป็นและสมควรแล้วซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยไม่โต้แย้งแต่อย่างใดในชั้นประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน แม้ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กับได้ส่งหลักฐานเอกสารค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของโจทก์ แต่กรณีก็ถือได้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิในการที่จะนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรมากกว่าที่ถูกหักเสียแล้วโจทก์จะกลับมาอ้างว่าหลักฐานมีอยู่จึงไม่ควรแก่การรับฟังนอกจากนี้เอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลนั้นไม่มีพยานบุคคลมาสืบรับรองถึงความถูกต้อง จึงเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มีรายการค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามเอกสารเหล่านั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์จำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share