คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736
ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 12722 ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ แก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจำหน่ายโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากสารบบแล้วให้ออกใบแทนฉบับเดิมแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 12722 ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ แก่โจทก์ เนื้อที่หนึ่งในสามของที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ด้านหน้าของที่ดินทั้งสามส่วนอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศเหนือเป็นระยะเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ด้านทิศตะวันตกให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ด้านทิศตะวันออก ส่วนจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ที่เหลือตรงกลางของที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างที่ดินส่วนของโจทก์และที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 12722 ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ แก่โจทก์ และถ้าไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วนที่พึงจะได้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12722 ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ แก่โจทก์เนื้อที่ 4 ไร่หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ถ้าตกลงไม่ได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นางเหรียญ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสองในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน แต่ถึงแก่ความตายไปก่อน 2 คน นางเหรียญเป็นภริยาของด้วยกฎหมายของดาบตำรวจประมวล มีบุตรด้วยกัน คือ นายสงกรานต์ ซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ตามสำเนาต้นขั้วใบสำคัญการสมรและสำเนาใบสำคัญการสมรส จำนวน 2 ฉบับ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงอรัญญา ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว และเด็กหญิงกนกลดา ตามบัญชีเครือญาติ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 นางเหรียญได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินรวม 4 แปลง ให้แก่จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ที่ดินตามที่ระบุในพินัยกรรม 4 แปลง มีดังนี้ แปลงที่หนึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 ก ทะเบียนเลขที่ 900 เล่ม 9 ข หน้า 50 เลขที่ดิน 473 หมายเลข 5641I แผ่นที่ 180 เนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งก็คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 12722 ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พิพาทกันในคดีนี้ โดยขณะทำพินัยกรรมได้จำนองไว้แก่กรมตำรวจ ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนด แปลงที่สอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 13687 (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่ 8316) ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนด แปลงที่สาม ที่ดินโฉนดเลขที่ 11453 ตำบลโคกสะอาด อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 59 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสารบัญด้านหลังโฉนด แปลงที่สี่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9774 ตำบลโคกสะอาด อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 30 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสารบัญด้านหลังโฉนด ต่อมานางเหรียญถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเหรียญตามคำสั่งศาลจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่สองถึงแปลงที่สี่ รวม 3 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ให้แก่จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ ตามข้อกำหนดพินัยกรรม เมื่อวันที่ 14, และ 28 กุมภาพันธ์ 2543 ตามลำดับ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17มิถุนายน 2546 จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของตนให้แก่นายสงกรานต์ทั้งสามแปลงดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนรวมสามโฉนด วันที่ 13 พฤษภาคม 2548 นายสงกรานต์ขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ให้แก่นางลำดวน วันที่ 21 ธันวาคม 2548 นายสงกรานต์ถูกคนร้ายจับตัวไปพร้อมรถยนต์กระบะ ไม่มีผู้ใดพบเห็นเป็นเวลา 3 ปีเศษ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งว่านายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้นายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญ ตามสำเนาคำสั่งศาลคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 333/2552 หมายเลขแดงที่ 730/2552 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 วันที่ 6 มกราคม 2553 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเหรียญดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากกรมตำรวจและจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในวันเดียวกัน โดยขณะนั้นนายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญแล้ว ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ ตามสำเนาคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 116/2553 หมายเลขแดงที่ 306/2553 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553 จากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 หลังจากฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความว่า ดาบตำรวจประมวลเข้าไปในที่ดินพิพาทตามสำเนารายงานประจำวันแจ้งเป็นหลักฐาน ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2557
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของนายสงกรานต์ ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์เจ้ามรดก เพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหา คือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อนายสงกรานต์ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของนายสงกรานต์ที่จะตกแก่ทายาทของนายสงกรานต์ ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายในข้อที่กล่าวนี้ชัดแจ้งถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้น ตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ก็ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 โดยโจทก์หาจำต้องอ้างบทมาตราดังกล่าวมาในฟ้อง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 เศษ 2 ส่วน 3 ไร่ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ เป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหรียญ ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นสัดส่วนแล้วหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหรียญตามพินัยกรรมโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว อันเป็นการอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามประเด็นพิพาทข้อ 3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนด คือ จำเลยทั้งสองต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 จำเลยทั้งสองมีพยาน 3 ปาก คือ จำเลยทั้งสอง และนายสุวรรณ ซึ่งเป็นพี่เขยของจำเลยทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์เป็นผู้รับมรดกตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ที่ดินพิพาทและที่ดินอีก 3 แปลง จำเลยทั้งสองได้โอนที่ดิน 3 แปลง ให้นายสงกรานต์แล้วนายสงกรานต์บอกกับจำเลยทั้งสองด้วยวาจาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ จะยกให้จำเลยทั้งสองแบ่งกันคนละ 7 ไร่ เห็นว่า พยานทั้งสามของจำเลยทั้งสองเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน และไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงลำพัง โดยนายสงกรานต์ไม่ได้ร่วมครอบครองที่ดินพิพาทด้วยนายสงกรานต์เพียงแต่บอกด้วยวาจาว่าจะยกให้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น ไม่ได้มีพฤติการณ์ให้จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเพียงลำพัง แต่กลับได้ความจากจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ขณะนายสงกรานต์ยังมีชีวิตอยู่ได้เข้าทำประโยชน์ร่วมกับพยาน ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ยังครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหรียญตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดดังที่จำเลยทั้งสองให้การ นอกจากนี้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้แต่งตั้งนางมะลิ เป็นผู้จัดการมรดก แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบได้ความว่า นางมะลิถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมและศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางเหรียญ ดังนั้น หากมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมคือ ที่ดิน 4 แปลง ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแล้ว ก็น่าที่จะไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองเพียงลำพังเท่านั้น ส่วนที่ดินอีก 3 แปลง ก็ควรจะเป็นชื่อของนายสงกรานต์แต่เพียงคนเดียว แต่ตามสารบัญการจดทะเบียนที่ดินพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดิน และตามสำเนาโฉนดที่ดินอีก 3 แปลง ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 3 คน โดยเฉพาะที่ดิน 3 แปลงนั้น กลับได้ความว่า หลังจากโอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมแล้ว เป็นเวลา 3 ปีเศษ จำเลยทั้งสองจึงจดทะเบียนโอนให้แก่นายสงกรานต์โดยเสน่หา ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าไม่มีข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางเหรียญโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดดังที่จำเลยทั้งสองให้การ พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง โจทก์มีพยานคือ ดาบตำรวจประมวล และนายประสิทธิ์ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางเหรียญ ซึ่งเป็นภริยาของดาบตำรวจประมวล ระหว่างนายสงกรานต์มีชีวิตและภายหลังนางเหรียญถึงแก่ความตาย นายสงกรานต์ได้ร่วมทำกินกับจำเลยทั้งสองก่อนที่จะเป็นคนสาบสูญ เห็นว่า พยานทั้งสองของโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นายสงกรานต์ทำกินในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสอง โดยเฉพาะนายประสิทธิ์อยู่ในหมู่บ้านซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่และไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในคดี นับว่าเป็นคนกลางจึงมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายสงกรานต์ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของดาบตำรวจประมวลและนายประสิทธิ์ ทำให้คำเบิกความของดาบตำรวจประมวลและนายประสิทธิ์มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหรียญตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉันตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามคำให้การจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ ซึ่งเป็นคนสาบสูญ ฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางเหรียญ เกินหนึ่งปี จึงขาดอายุความมรดกแต่ศาลล่างทั้งสองกลับไปวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่ทายาทของนายสงกรานต์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 อันเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ ย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางเหรียญตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนที่นายสงกรานต์จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยดังวินิจฉัยในปัญหาประการที่สอง จึงถือได้ว่านายสงกรานต์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน นายสงกรานต์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหรียญตามพินัยกรรมและได้มีการโอนที่ดินตามพินัยกรรม 3 แปลงให้นายสงกรานต์ก่อนที่จะเป็นคนสาบสูญ แม้ต่อมานายสงกรานต์จะถูกคนร้ายจับตัวไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญ ก็ต้องถือว่านายสงกรานต์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยจำเลยทั้งสองครอบครองแทน และหลังจากที่นายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังจดทะเบียนให้นายสงกรานต์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสอง ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า นายสงกรานต์ได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน เมื่อนายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้น ย่อมเป็นกองมรดกของนายสงกรานต์ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายสงกรานต์ ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาทของนายสงกรานต์ ย่อมได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน หมวด 3 กรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อนายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญ ถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มรดกของนายสงกรานต์คือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทย่อมตกแก่ทายาทของนายสงกรานต์ที่มีโจทก์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์ตามคำสั่งศาล จึงเป็นผู้แทนของทายาท มีสิทธิและหน้าที่อันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามมาตรา 1719 รวมทั้งมีอำนาจฟ้องคดีตามมาตรา 1736 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางเหรียญ ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ จึงเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1651 (2) ปรากฏว่าขณะที่นางเหรียญถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจอยู่ จำเลยทั้งสองและนายสงกรานต์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับ ภาระผูกพันคือ จำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันตามบทกฎหมายข้างต้นโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1362 และ 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองดังปรากฏในสำเนาโฉนดที่ดินที่โจทก์แนบท้ายฟ้องอันถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง และตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ก็ดีและนำสืบโดยโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้ง ดังนี้ นายสงกรานต์ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อนายสงกรานต์เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของนายสงกรานต์จึงตกแก่ทายาทของนายสงกรานต์ ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสงกรานต์จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ส่วน ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้ว ตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1 ใน 3 ส่วนของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ในการไถ่ถอนจำนองไปก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share