แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารที่ทำขึ้นใช้ถ้อยคำแสดงว่าเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันและข้อความต่อมาก็ระบุในรายละเอียดให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว ขอรับรองการเข้ามาทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยักยอกหรือทุจริตเงินของโจทก์ ให้โจทก์ดำเนินการตามกฎหมายแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทันที ดังนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2ได้ค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทำหลักฐานการค้ำประกันเป็นหนังสือให้ไว้แก่โจทก์ แม้จะไม่มีข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนรับผิดต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะเมื่อจำเลยที่ 2 ยินยอมผูกพันตนรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ความรับผิดจะมีขึ้นตอนไหนเพียงใดย่อมเป็นไปตามกฎหมายไม่จำต้องระบุถึงความรับผิดดังกล่าวซ้ำอีกถึงได้ใช้คำว่า “ผู้ค้ำประกัน” อันเป็นถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 11ว่าด้วยค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1