คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารผู้คัดค้าน โดยจำนำใบฝากเงินประจำเพื่อเป็นประกัน พร้อมกับทำหนังสือยินยอม ให้ผู้คัดค้านมีสิทธิหักเงินฝากประจำตามใบรับฝากนั้นชำระหนี้ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้ ก่อนมีการฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย 9 เดือนเศษ ผู้คัดค้านใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมหักเงินตาม ใบรับฝากเงินประจำชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีภายหลังที่ลูกหนี้ ถูกฟ้องล้มละลายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงของลูกหนี้ ซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ตลอดมาถึงวันหักเงินนั่นเอง การที่ลูกหนี้จำนำใบรับฝากเงินประจำ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ มีประกันก็มีเพียงสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคือใบรับฝาก ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 95 ซึ่งผู้คัดค้านมีแต่เพียง สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ใบรับฝากโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก เพื่อชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านได้ ทั้งเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิแก่ผู้รับจำนำ จัดการแก่ทรัพย์สินที่จำนำเป็นประการอื่น นอกจากบทบัญญัติทั้งหลาย ว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 756. ข้อตกลงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิหักเงินตามใบรับฝากไว้ชำระหนี้ได้ ถือได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการกระทำที่ลูกหนี้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบ เจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะเพิกถอนการใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก ที่ได้กระทำไปนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 การขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ตามใบรับฝากดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นกรณีนอกเหนือบทบัญญัติมาตรา 115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินการเป็นกรณีต่างหากจากคดีนี้

ย่อยาว

คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2523 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารไทยทนุ จำกัดภายในวงเงิน 200,000 บาท ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2523 ลูกหนี้ที่ 1 ได้สลักหลังจำนำใบรับฝากเงินประจำจำนวน 200,000 บาท เป็นประกันและทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารนำเงินฝากประจำในบัญชีหักชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้ ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2523 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารเพิ่มวงเงินอีก 100,000 บาท ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 4 มกราคม2524 โดยลูกหนี้ที่ 1 สลักหลังจำนำใบรับฝากเงินประจำจำนวน 100,000 บาท ไว้เป็นประกันและทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารนำเงินฝากประจำชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้ วันที่ 30 มิถุนายน 2523 ลูกหนี้ที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเงิน 373,774 บาท 09 สตางค์ ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2523 ธนาคารและลูกหนี้ที่ 1 ตกลงกันให้นำเงินฝากประจำพร้อมด้วยดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากประจำรวมเป็นเงิน 322,709 บาท 58 สตางค์ โอนเข้ามาหักชำระหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชีจำนวนดังกล่าวแก่ธนาคาร การที่ธนาคารและลูกหนี้ตกลงกันกระทำการชำระหนี้ตามวิธีการดังกล่าว เป็นการที่ลูกหนี้กระทำหรือยินยอมให้กระทำภายหลังวันที่ 15 กันยายน 2523 ซึ่งเป็นวันฟ้องหรือขอให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้รับชำระหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย

เจ้าหนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้ที่ 1 ตกลงยินยอมให้ธนาคารหักเงินตามบัญชีเงินฝากที่ฝากไว้กับธนาคารตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ตกลงยินยอมไว้ก่อนลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายถึง 10 เดือน และ 8 เดือนเศษตามลำดับ หาใช่ลูกหนี้ที่ 1 ตกลงยินยอมให้ธนาคารหักเงินตามบัญชีเงินฝากเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 ไม่ ความตกลงยินยอมของลูกหนี้ที่ 1ดังกล่าวจึงหาได้มีความมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนใดได้เปรียบ นอกจากนี้การที่ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาจำนำใบรับฝากเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารธนาคารจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิเหนือใบรับฝากและเงินที่ลูกหนี้ที่ 1 ฝากไว้กับธนาคารตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 95 ธนาคารจึงใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝากที่จำนำไว้ได้โดยมิต้องขอรับชำระหนี้ ซึ่งสิทธิของธนาคารดังกล่าวนี้เป็นข้อยกเว้นมาตรา 115 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอเพิกถอนมิได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกัน มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แม้ผู้คัดค้านจะขอรับชำระหนี้ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันก็ยังมีสิทธิพิเศษที่จะขอรับชำระหนี้จากเงินของลูกหนี้อันเป็นหลักประกันอยู่เช่นเดียวกันตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย การที่ผู้คัดค้านหักเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ธนาคารผู้คัดค้านพื่อชำระหนี้บางส่วน จึงไม่ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 15 พิพากษายืน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารผู้คัดค้านโดยลูกหนี้ที่ 1 ได้ตกลงจำนำใบรับฝากเงินประจำไว้กับธนาคารผู้คัดค้านเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีพร้อมกับได้ทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านมีสิทธิหักเงินฝากประจำตามใบรับฝากนั้นชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวได้ ตั้งแต่ก่อนมีการฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายถึง 9 เดือนเศษ และ 8 เดือนเศษ ตามลำดับ แล้วต่อมาภายหลังเมื่อลูกหนี้ที่ 1ถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้ว ธนาคารจึงใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมของลูกหนี้ที่ 1ดังกล่าวหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของผู้คัดค้านนั้นเป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 ยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านกระทำภายหลังที่มีการฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าการที่ธนาคารผู้คัดค้านใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝากประจำที่ลูกหนี้ที่ 1 จำนำไว้กับธนาคารผู้คัดค้าน ตามหนังสือยินยอมที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำไว้ให้ธนาคารพร้อมกับการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 และวันที่ 4 มกราคม2523 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนมีการฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลาย คือวันที่ 15 กันยายน2523 เป็นเวลาเกินกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ตามหนังสือยินยอมของลูกหนี้ที่ 1 ดังกล่าวนั้นลูกหนี้ที่ 1 ก็ได้ให้สัญญาว่าจะไม่เพิกถอนสัญญานี้ เมื่อหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชียังไม่ชำระให้ธนาคารเสร็จสิ้น หนังสือยินยอมดังกล่าวของลูกหนี้ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าความยินยอมตามหนังสือดังกล่าวเป็นความยินยอมที่มีอยู่ตลอดไปจนกว่าลูกหนี้ที่ 1 จะชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้กับธนาคารผู้คัดค้านเสร็จสิ้น ดังนั้นการที่ธนาคารผู้คัดค้านมาใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมดังกล่าวของลูกหนี้หักเงินตามใบรับฝากเงินประจำของลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้กับธนาคารผู้คัดค้านในวันที่ 20 ตุลาคม 2523 ภายหลังที่ลูกหนี้ที่ 1 ถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงยินยอมของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ตลอดมาถึงวันดังกล่าวนั่นเอง คดีนี้ปรากฏตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2523 และมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวม 6 ราย เป็นจำนวนหนี้ทั้งสิ้น 11,445,843 บาท 66 สตางค์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้เลยแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 รายอื่น ๆ อีก 6 รายรวมจำนวนหนี้ถึง 11 ล้านบาทเศษไม่มีส่วนได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 1 เลย การที่ลูกหนี้ที่ 1 จำนำใบรับฝากเงินประจำรายนี้ไว้กับธนาคารผู้คัดค้านตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับกันมาในคำร้องและคำแถลงคัดค้านถึงหากจะถือว่าเป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 750 ดังที่ธนาคารผู้คัดค้านตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกา ธนาคารผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันก็มีเพียงสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคือใบรับฝากเงินประจำที่ลูกหนี้ที่ 1 ให้ไว้แก่ธนาคารผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 95 ซึ่งธนาคารผู้คัดค้านมีแต่เพียงสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ใบรับฝากเงินประจำดังกล่าวต่อไปได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ธนาคารผู้คัดค้านจึงไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายหักเงินตามใบรับฝากประจำดังกล่าวไว้เพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารผู้คัดค้านดังที่ได้แก้ฎีกาขึ้นมา นอกจากนี้การที่ลูกหนี้ที่ 1กับธนาคารผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ตามหนังสือยินยอมของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่ขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นเวลาก่อนที่หนี้จะถึงกำหนดชำระ ให้ธนาคารผู้คัดค้านมีสิทธิหักเงินตามใบรับฝากเงินประจำที่จำนำไว้กับธนาคารชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้ ถ้าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ก็เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิแก่ธนาคารผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนำจัดการแก่ทรัพย์สินที่จำนำเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงดังกล่าวนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 756 ข้อตกลงยินยอมที่ลูกหนี้ที่ 1ให้ไว้แก่ธนาคารผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารผู้คัดค้านหามีสิทธิหักเงินตามใบรับฝากเงินประจำที่ลูกหนี้จำนำไว้นั้นชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามข้อตกลงยินยอมดังกล่าวได้ไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงถือได้ว่าข้อตกลงยินยอมที่ลูกหนี้ที่ 1 ให้สิทธิแก่ธนาคารผู้คัดค้านหักเงินจากใบรับฝากเงินประจำชำระหนี้ให้แก่ธนาคารนั้นเป็นการกระทำที่ลูกหนี้ที่ 1 มุ่งหมายให้ธนาคารเจ้าหนี้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะเพิกถอนการใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝากเงินประจำของลูกหนี้ที่ 1 ที่ธนาคารผู้คัดค้านได้กระทำไปนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115 ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ธนาคารผู้คัดค้านชำระหนี้ตามใบรับฝากเงินประจำท้ายคำร้องทั้ง 2 ฉบับ เป็นเงิน 322,709 บาท 58 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยนั้นเป็นกรณีนอกเหนือบทบัญญัติแห่งมาตรา 115 ดังกล่าวแล้วชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการเป็นกรณีต่างหากจากคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำแก้ฎีกาของธนาคารผู้คัดค้านต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีมาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการชำระหนี้ที่ธนาคารผู้คัดค้านใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมทั้ง 2 ฉบับท้ายคำร้องของผู้ร้องหักเงินตามใบรับฝากเงินประจำของลูกหนี้ที่ 1 จำนวน 2 ฉบับตามคำร้อง เป็นเงินทั้งสิ้น 322,709 บาท 58 สตางค์ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้คัดค้าน

Share