แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ชายผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายคือตัวชาย บิดาและมารดาซึ่งไปหมั้นหญิงต้องร่วมกันใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย โดยที่หญิงตกเป็นภริยาชายแม้ด้วยความสมัครใจ ความเสียหายต่อชื่อเสียงและที่ได้เตรียมการสมรส
ย่อยาว
จำเลยที่ 2, ที่ 3 เป็นบิดามารดาจำเลยที่ 1 ได้หมั้นโจทก์ให้กับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะไปสมรสกับหญิงอื่น ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 2, ที่ 3เป็นผู้ไปสู่ขอโจทก์กับทำพิธีหมั้น ถือว่าร่วมเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นด้วย พิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหาย 44,000 บาท กับดอกเบี้ย และไม่ต้องคืนของหมั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความประสงค์จะทำการสมรสกับโจทก์ตามสัญญาหมั้นและตามที่ได้พูดจาตกลงกันไว้กับฝ่ายโจทก์ในวันทำสัญญาหมั้น ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 จะไปทำการสมรสกับหญิงอื่น จึงได้อ้างเหตุขอผัดผ่อนวันประกอบพิธีสมรสกับโจทก์เรื่อยมาดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นที่สิ้นสุด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จำต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เสียเนื้อเสียตัวตกเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1เป็นการกล่าวอ้างของโจทก์ที่จะได้เรียกร้องค่าเสียหายให้สูงขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน ถึงกับจำเลยที่ 1ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปหมั้นโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 หมั้นกันแล้วได้ไปมาหาสู่กันเสมอ เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความรักและสนิทสนมกันดีเมื่อเวลาผ่านมาหลายปี โจทก์เป็นหญิงสาว ถ้าไม่ตกเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1แล้ว คงจะไม่กล้ากล่าวอ้างเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องน่าอับอายและมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะแกล้งอ้างว่าตกเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1โดยไม่เป็นความจริง เพื่อเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยให้สูงขึ้น จำเลยทั้งสามฎีกาว่าถึงแม้โจทก์จะต้องตกเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ก็ด้วยความสมัครใจของโจทก์เอง โจทก์จะมาเรียกค่าทดแทนหาชอบไม่นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นคู่หมั้นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็รับรองว่าจะแต่งงานกับโจทก์แน่นอน ทั้งโจทก์ก็มั่นใจเช่นนั้น แม้โจทก์ตกเป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ด้วยความสมัครใจ ก็ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อกายได้ และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาทนั้น เหมาะสมดีแล้ว
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาประกอบพิธีสมรส โจทก์จะมาเรียกร้องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากจำเลยหาชอบไม่นั้น ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ก่อนบวชจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์และมารดาโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สึกจากสมณเพศแล้วจะสมรสกับโจทก์โจทก์จึงมั่นใจว่าจะได้สมรสกับจำเลยที่ 1 เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ฝ่ายจำเลยขอผัดการแต่งงานก็หมดแล้ว พร้อมทั้งจำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นหลักฐาน คงจะไม่มีอุปสรรคอย่างอื่นใดอีก โจทก์จึงเตรียมการสมรสด้วยการจัดซื้อเครื่องเรือนมารอไว้สิ้นเงินไป 8,000 บาท โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าทดแทนค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ และศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ใช้เป็นเงิน 4,000 บาท เป็นการสมควรแล้ว”
พิพากษายืน