แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาขายโควต้าสลากกินแบ่งแก่โจทก์แล้วกลับไปโอนโควต้าแก่สามีจำเลย โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยขายโควต้าแก่โจทก์จำเลยต้องรับผิดโอนโควต้าแก่โจทก์ ถ้าโอนไม่ได้ต้องใช้ค่าเสียหาย
ย่อยาว
จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานในสำนักงานสลากกินแบ่ง ได้รับโควต้าจำหน่ายสลากกินแบ่งแล้วทำสัญญาโอนแก่โจทก์ ให้โจทก์รับโอนจากสำนักงานสลากกินแบ่ง แต่กลับโอนโควต้าให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนโควต้าสลากกินแบ่ง 50 เล่มแก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 70,000 บาท กับค่าเสียหายงวดละ 350 บาท แก่โจทก์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับสำนักงานสลากกินแบ่งโดยตรงจำเลยไม่ผิดสัญญากับโจทก์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1ปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายสิทธิในการจำหน่ายสลากกินแบ่งเอกสารหมาย จ.2หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีสิทธิจะทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งใหม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงไม่อาจโอนโควต้าสลากกินแบ่งรายพิพาทให้โจทก์ได้นั้น เห็นว่าประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ 10/2517 (เอกสารหมาย ล.4) เพียงแต่ให้ผู้แทนจำหน่ายสลากที่มีสัญญาซื้อขายอยู่เดิมมาทำสัญญาซื้อขายใหม่ไม่ใช่เลิกสัญญาที่ทำไว้เดิมเลยทีเดียว และประกาศฉบับที่ 3/2518 (เอกสารหมาย ล.1) ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้แทนจำหน่ายมีอยู่ข้อหนึ่งว่าต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายธงชัย สุวรรณกนิษฐ์ หัวหน้ากองกลาง และนายณรงค์รัตน์ วงศ์วัฒนศานต์ หัวหน้าแผนกนิติการพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 ผ่อนผันให้พนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เป็นผู้แทนจำหน่ายสลากตามสัญญาซื้อขายเดิม โอนสิทธิการจำหน่ายสลากกินแบ่งให้แก่ญาติพี่น้องหรือบุคคลอื่นได้ ดังปรากฏตามบันทึกการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลครั้งที่ 5/2518 ทั้งจำเลยเองก็นำสืบรับว่ามีพนักงานร้องเรียนขอผ่อนผัน และทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ยินยอมตามคำร้องของพนักงานจริง ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานก็มีสิทธิที่จะโอนโควต้าสลากกินแบ่งที่ขายสิทธิการจำหน่ายตามเอกสารหมาย จ.2ให้แก่โจทก์ได้ หากประสงค์จะโอนให้ตามมติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว
ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ทำสัญญาเป็นผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามเอกสารหมาย ล.3 นั้นได้ความจากคำเบิกความของนายธงชัย นายณรงค์รัตน์ พยานโจทก์จำเลยทั้งสองประกอบกับคำร้องของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2518 ขอโอนโควต้าสลากกินแบ่งรายพิพาทให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายแทนเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายเดิมอยู่กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่มีนิติสัมพันธ์กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีสิทธิจะให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลระงับการทำสัญญา ฉะนั้นเหตุที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเป็นผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งเอกสารหมาย ล.3 ก็เพราะจำเลยที่ 1 โอนโควต้าสลากกินแบ่งให้นั่นเอง หากจำเลยที่ 1 ไม่โอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งอยู่เดิมก็ไม่มีสิทธิที่จะทำสัญญาดังกล่าวได้การที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนโควต้าสลากกินแบ่งรายพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 แต่กลับไปโอนให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นการผิดสัญญา และจำเลยที่ 2 รับโอนโควต้าสลากกินแบ่งรายพิพาททั้งที่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ภริยาได้ขายสิทธิการจำหน่ายสลากกินแบ่งนั้นให้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดโอนโควต้าสลากกินแบ่งรายพิพาทให้โจทก์ หากโอนให้ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องคืนเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”