แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญายอมความซึ่งข้อความตอนต้นกล่าวว่าให้แบ่งมฤดกตามพินัยกรรม์ แต่ในตอนหลังของข้อเดียวกันนั้นระบุรายการทรัพย์ไว้ชัดแจ้งว่าให้แบ่งทรัพย์อย่างใด ให้ใคร และแบ่งกันอย่างไรซึ่งไม่ตรงกับพินัยกรรม์ ดังนี้ ถือว่าคู่ความมีเจตนาอันแท้จริงที่จะแบ่งทรัพย์มฤดกตามรายการที่ระบุในตอนหลัง
คดีที่ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หากมีข้อขัดข้องสงสัย ให้คู่ความร้องขอให้ศาลสั่งได้ เพราะเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยเรื่องบังคับคดี มิใช่เรื่องที่อ้างว่าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นสั่งอย่างไรแล้ว ต่อไปคู่ความก็มีสิทธิอุทธรณ์,ฎีกาได้ตามวิธีพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พินัยกรรม์ของ พ. เป็นโมฆะ และขอแบ่งมฤดก จำเลยยกพินัยกรรม์ขึ้นต่อสู้ ต่อมาคู่ความปราณีประนอมยอมความกัน และศาลได้พิพากษาเด็ดขาดไปตามยอมแล้ว ตามสัญญายอมข้อ ๓ ตอนต้นมีว่า ทรัพย์มฤดกตามฟ้องตกลงแบ่งกันตามพินัยกรรม์ แต่ตอนท้ายศาลบันทึกไว้ว่าทรัพย์อย่างใด ให้ใคร และทรัพย์อย่างใดให้แบ่งกันอย่างไร ไม่ตรงกับพินัยกรรม์ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า ข้อความที่ศาลบันทึกขัดกับพินัยกรรม์ ให้เรียกโจทก์มาพูดกัน โจทก์ว่าถูกต้องตามที่ตกลงกันแล้ว
ศาลชั้นต้น สั่งให้แบ่งตามพินัยกรรม์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยมาร้องโดยมิได้อุทธรณ์ตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๓๘ และศาลชั้นต้นสั่งใหม่นั้น ไม่ชอบ พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น บังคับคดีไปตามยอม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คู่ความพิพาทกันด้วยเรื่องบังคับคดี มิใช่เป็นเรื่องที่อ้างว่าคำพิพากษามิได้เป็นไปตามสัญญายอมความตามมาตรา ๑๓๘(๓) เมื่อมีข้อความสงสัยก็เสนอให้ศาลสั่งได้ ฝ่ายที่ไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นเสีย จำเลยก็มีสิทธิฎีกาได้ ไม่ต้องห้าม
สัญญายอมความข้อ ๓ ตอนหลังได้ระบุรายการทรัพย์ไว้ชัดแจ้ง แสดงว่าคู่ความมีเจตนาอันแท้จริงที่จะให้การแบ่งทรัพย์นั้นเป็นไปตามรายการที่ระบุไว้ ยิ่งกว่าข้อความที่กล่าวคลุม ๆ ในตอนต้นคำสั่งศาลเดิมคลาดเคลื่อนไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำสั่งศาลชั้นต้นให้แบ่งทรัพย์มฤดกตามสัญญายอมข้อ ๓ ตอนหลัง