แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินพิพาทให้แก่กองทัพเรือตั้งแต่พ.ศ.2465และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามสำหรับใช้ในราชการทหารพร้อมด้วยแผนที่ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบแล้วทั้งต่อมากรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกถือว่าประชาชนทุกคนทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปยึดถือครอบครองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แม้มีการแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทก็ตามแต่แบบแจ้งการครอบครองส.ค.1มิใช่คำอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมอ้างไม่ได้ว่าผู้เข้าไปยึดถือครอบครองในที่ดินไม่มีเจตนาเข้าไปในที่ดินพิพาทจำเลยซื้อที่ดินพิพาทภายหลังที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้วถือว่าจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นที่หวงห้ามเมื่อเข้าไปยึดถือครอบครองย่อมมีความผิดจะอ้างว่ามีแบบแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารส.ค.1มายกเว้นความผิดโดยอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำผิดไม่ได้ การที่จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทก็เพื่อยึดถือครอบครองและปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ราชพัสดุและเขตหวงห้ามสำหรับใช้ในราชการกองทัพเรือด้วยการปรับไถที่ดินและปลูกสร้างอาคาร โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหมและจากเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478 มาตรา 3, 4, 5, 7 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยในราชการทหารของสถานีทหารเรือสัตหีบ ในท้องที่อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2510 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2479 มาตรา 4พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กับขอให้จำเลยและบริวารออกจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยยึดถือครอบครอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินหวงห้ามในเขตปลอดภัยในราชการทหารของสถานีทหารเรือสัตหีบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารพ.ศ. 2478 มาตรา 6, 7(3) ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง กระทงหนึ่ง ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท และมีความผิดฐานปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างลงในบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478มาตรา 5, 7(3) จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท อีกกระทงหนึ่งรวมจำคุก 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยยึดถือครอบครอง
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน เดิมเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนไว้เป็นที่ดินสงวนเมื่อ พ.ศ. 2465 และต่อมาได้ทรงพระราชทานให้แก่กองทัพเรือ ตามพระบรมราชโองการลับที่ 2/249 ลงวันที่ 16 กันยายน2465 ตามเอกสารหมาย จ.3 กองทัพเรือได้ทำการสำรวจและกำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามและทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2479 ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ดินดังกล่าวเป็นเขตปลอดภัยในราชการทหารอีก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารของสถานีทหารเรือสัตหีบในท้องที่อำเภอบางละมุงอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ. 2510 ตามเอกสารหมาย จ.7 ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าว โดยในที่ดินพิพาทมีการกลบไถที่ดินและปลูกสร้างอาคาร 2 หลัง ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.4เมื่อ พ.ศ. 2498 มีการแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมา พ.ศ. 2530จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายณรงค์ สุขเนียม ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2534เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จำเลยฎีกาว่า ขณะที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อ พ.ศ. 2530 นั้นจำเลยไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุหรือหวงห้ามเพราะที่ดินพิพาทมี ส.ค.1 เมื่อมีการร้องทุกข์ว่า จำเลยกระทำผิดจำเลยก็ได้โต้เถียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดังกล่าวและเมื่อจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จำเลยได้ให้นายภานุ ตั้งชัยภิญโญกุลเช่า เมื่อนายภานุเช่าไปแล้วนายภานุจึงปลูกสร้างอาคารดังกล่าวโดยที่จำเลยมิได้เป็นผู้ใช้ให้นายภานุปลูกสร้าง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่กองทัพเรือตั้งแต่ พ.ศ. 2465และต่อมาได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามสำหรับใช้ในราชการทหารพร้อมด้วยแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2479 ให้ประชาชนทราบแล้วทั้งต่อมา พ.ศ. 2528กรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุโดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ดังนี้ย่อมถือว่าประชาชนทุกคนได้ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปยึดถือครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แม้มีการแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินส.ค.1 เอกสารหมาย ล.1 ตามที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่แบบแจ้งการครอบครอง ส.ค.1 ก็มิใช่คำอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงย่อมอ้างไม่ได้ว่า ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองในที่ดินไม่มีเจตนาเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่หวงห้ามได้ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนายณรงค์ สุขเนียม เมื่อ พ.ศ. 2530 ภายหลังที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หวงห้าม เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐแล้ว จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาทมีการแจ้งแบบการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 มายกเว้นความผิดโดยอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำผิดไม่ได้ และการที่จำเลยอ้างว่าให้นายภานุเช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากจ่าโทสมชาย คงศิริ และเรือโทไชยา ทัศนสมบูรณ์พยานโจทก์ซึ่งไปสำรวจที่เกิดเหตุว่าพบนางศิริรัตน์ภรรยาจำเลยกำลังควบคุมคนงานก่อสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทและนางศิริรัตน์รับต่อเจ้าพนักงานทั้งสองว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนร่วมกับจำเลยซื้อมา ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อเพราะหากเป็นดังที่จำเลยอ้างจริง นางศิริรัตน์ภรรยาจำเลยคงไม่ต้องไปควบคุมคนงานก่อสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารโรงเรือนดังกล่าวในที่ดินพิพาทเองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมและเรียงกระทงลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่า ไม่ถูกต้องเพราะการที่จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทก็เพื่อยึดถือครอบครองและสิ่งปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในบทหนักที่สุด คือ ตามประมวลกฎหมาที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง ศาลฎีกาจึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478 มาตรา 5 7(3) ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยยึดถือครอบครอง