คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์อีก แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอน.เอ.เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นซึ่งคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว ก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้จึงชอบแล้ว
การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ สมาคมฯจึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรม-ราชินูปถัมภ์ดังกล่าว เป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้

Share