คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันเกิดเหตุ ก. ซึ่งเป็นพนักงานขายของได้ไปที่บริษัทนายจ้าง แล้วได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงาน นำรถยนต์บรรทุกน้ำอัดลมออกไปเพื่อทำการขาย และได้ให้พนักงานขายสำรองไปด้วย ระหว่างทาง ก. ลงจากรถไป โดยให้พนักงานขายสำรองทำการขายแทน ครั้นตอนเย็น ก. กลับไปที่บริษัทนายจ้างอีกเพื่อปั๊มบัตรเลิกงาน ดังนี้ การกระทำของ ก. เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่ซึ่งมีบัญญัติไว้ต่างหากแล้วในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123(4)มิใช่อาศัยอำนาจหน้าที่ที่เป็นพนักงานขายแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันจะถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่
ตามมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เห็นได้ว่า เมื่อได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้วจะไม่สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอีกก็ได้เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว.และปรากฏว่าลูกจ้างมิได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งมีส่วนผิดอยู่ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษา

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์ได้มีคำสั่งปลดและเลิกจ้างลูกจ้าง 5 นายคือ ก. เพราะกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ และอีก 4 นาย เพราะยุยงสนับสนุนชักชวนให้พนักงานหยุดงาน ลูกจ้างทั้ง 5 นายได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า ก. ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และลูกจ้างอีก 4 นายก็ยังฟังไม่ได้ว่าได้กระทำผิดร้ายแรงตามข้อบังคับของโจทก์ การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 5นายในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งลูกจ้างทั้ง 5 นายมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นมีผลบังคับใช้ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ จึงมีคำสั่งให้โจทก์รับลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงาน คำสั่งดังกล่าวคลาดเคลื่อนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพราะ ก. ทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการขัดกับข้อบังคับของโจทก์ และเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 123(1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และลูกจ้างอีก 4 นายกระทำผิดตามมาตรา 123(2) และ (5) ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งจำเลยได้วินิจฉัยขี้ขาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ก. โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานขายของจำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานติดรถ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับในระหว่างที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเงินคนละ 210,000 บาท

จำเลยให้การว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยและฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ค่าเสียหายของโจทก์ตามฟ้องไม่ใช่ค่าเสียหายจริง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้มากเท่าจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนคดีหลังเป็นจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลยที่ 13ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 14 ถึงที่ 17 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานโดยแน่ชัดว่าได้กระทำผิด โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยมิได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งเป็นผู้มีส่วนทำผิดอยู่ด้วย จึงไม่สมควรให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยให้รับให้จำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมภายใน 10 วัน คำขออื่นให้ยก

ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 13เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 123(1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ควรเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เฉพาะจำเลยที่ 13 โดยให้โจทก์ไม่ต้องรับจำเลยที่ 13 กลับเข้าทำงานดังเดิม

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางสั่งรับเฉพาะกรณีจำเลยที่ 13ส่วนอุทธรณ์ในกรณีอื่นเป็นข้อเท็จจริง ไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาสั่งยกคำร้อง และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์เลิกจ้างจนถึงวันที่โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงาน

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 13 เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 123(1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯหรือไม่นั้น ได้ความเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นพนักงานขายของโจทก์ได้ไปที่บริษัทโจทก์แล้วได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงาน นำรถบรรทุกน้ำอัดลมออกไปเพื่อทำการขายและได้ให้พนักงานสำรองไปด้วย เมื่อไประหว่างทางจำเลยที่ 13 ลงจากรถไป โดยให้พนักงานขายสำรองทำการขายแทน ครั้นตอนเย็นจำเลยที่ 13 กลับไปที่บริษัทโจทก์อีกเพื่อปั๊มบัตรเลิกงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 13 ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่ซึ่งมีบัญญัติไว้ต่างหากแล้วในมาตรา 123(4) มิใช่อาศัยอำนาจหน้าที่ที่เป็นพนักงานขายแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันจะถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ แม้จำเลยที่ 13 ได้ปั๊มบัตรเวลาทำงานและปั๊มบัตรเลิกงานด้วย ก็เพื่อให้การละทิ้งหน้าที่ของจำเลยที่ 13 ไม่ถูกตรวจพบในภายหลัง ส่วนที่ จำเลยที่ 13 ไม่ได้ทำงานในวันนั้นแต่ยังได้รับเบี้ยขยันและเงินเปอร์เซ็นต์การขาย ทั้งถ้าโจทก์ไม่ทราบจำเลยที่ 13 ก็จะได้รับเงินโบนัสและการขึ้นเงินเดือนประจำปี ซึ่งส่วนหนึ่งจะพิจารณาจากวันลาและขาดด้วยนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับว่าจำเลยที่ 13 จะสมควรได้รับประโยชน์ดังกล่าวเพียงไรหรือไม่ มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 13 ไม่ปฏิบัติหน้าที่พนักงานขายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์เหล่านั้น

ตามสำนวนคดีหลังซึ่งจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยโจทก์ให้การไว้ว่า “จำเลยขอต่อสู้ว่ารายได้ต่อเดือนและรายได้อื่น ๆ ตามฟ้องของโจทก์ทั้ง 5 คนไม่ถูกต้องและไม่เป็นจริง” ดังนี้ โจทก์จึงหาได้ให้การยอมรับไม่ และการให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างกรณีการเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 41(4) บัญญัติว่า “และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร” เห็นได้ว่า เมื่อได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว จะไม่สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอีกก็ได้คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์รับจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 กลับเข้าทำงานแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 ไม่ได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งมีส่วนผิดอยู่ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 อีกได้

พิพากษายืน

Share