คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานความผิด เรื่องยักยอก และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตามแต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนี้อาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น มาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ไม่เป็นฟ้องซ้อนและคำฟ้องของโจทก์กรณีนี้มิใช่การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 40 จึงนำบทบัญญัติในมาตรา 46 มาใช้กับการพิจารณาคดีนี้ไม่ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกกรุงเทพมหานครเป็นโจทก์ เรียกนายไพรัช ลิ้มวรรัตน์ เป็นจำเลยที่ 1 นายกัมปนาทหรือกมุทบุญญลาภาเลิศเป็นจำเลยที่ 2
สำนวนแรก จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2528 โจทก์จ้างจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลมีนบุรี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,745 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2531 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สถานธนานุบาลมีนบุรีเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและปกป้องผลประโยชน์ของโจทก์ตลอดมา การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย ขอให้บังคับโจทก์รับจำเลยที่ 2 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่รับจำเลยที่ 2 กลับเข้าทำงาน ขอให้โจทก์จ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างระหว่างพักงาน ค่าชดเชย กับคืนพันธบัตรมูลค่า 200,000 บาท แก่จำเลยที่ 2ด้วย
โจทก์ให้การต่อสู้คดี
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพมหานคร สถานธนานุบาลมีนบุรีเป็นหน่วยงานของโจทก์จัดตั้งขึ้นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพาณิชย์เกี่ยวกับสถานธนานุบาล โจทก์ได้ออกระเบียบและคำสั่งในการดำเนินการ รวมทั้งคำสั่งเรื่องการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ที่ 18/2528จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเป็นลูกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งพนักงานรักษาของสถานธนานุบาลมีนบุรี มีหน้าที่รักษาทรัพย์ รับจำนำและรับผิดชอบทรัพย์รับจำนำเสียหายหรือสูญหายของสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของสถานธนานุบาลมีนบุรีมีหน้าที่ปฏิบัติและควบคุมบังคับบัญชาตลอดจนรับผิดชอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งในสถานธนานุบาลมีนบุรีของโจทก์ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ว่าด้วยการรับจำนำ รักษาทรัพย์รับจำนำและรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายหรือความสูญเสียทุกประการ ควบคุมรับผิดชอบตรวจบัญชีทรัพย์หายและชดใช้ความเสียหายเนื่องแต่การรับจำนำทรัพย์หาย ควบคุมและออกคำสั่งให้พนักงานสถานธนานุบาลมีนบุรีปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้เรียบร้อยและเป็นผลดีแก่สถานธนานุบาลมีนบุรี ขณะที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่นั้น เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2530 โจทก์ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการทุจริตโดยที่สถานธนานุบาลมีนบุรีรับจำนำทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองเป็นของปลอมจำนวนมาก และมีทรัพย์จำนำประเภททองรูปพรรณหายจำนวน 3 รายการ วันที่ 29กรกฎาคม 2530 ตรวจพบว่าทรัพย์ที่รับจำนำประเภททองรูปพรรณที่เป็นของปลอมจำนวน 147 รายการ วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ตรวจพบว่าทรัพย์สินหลุดจำนำประเภททองรูปพรรณสูญหายอีก 1 รายการ และวันที่4 สิงหาคม 2530 ตรวจพบทรัพย์ที่รับจำนำประเภททองรูปพรรณที่เป็นของปลอมเพิ่มอีก 1 รายการ ทั้งนี้เมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2530ถึงเดือนกรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานของโจทก์ประจำสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยทั้งสองได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดสัญญาจ้างเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างทั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์เที่ยงธรรมและประพฤติตนอยู่ในความสุจริต รักษาประโยชน์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาทรัพย์ที่รับจำนำและรับผิดชอบทรัพย์ที่รับจำนำเสียหายหรือสูญหายของสถานธนานุบาลมีนบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตและจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานกลาง จสธก.ที่ 18/2518 เรื่อง กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด แต่ในการปฏิบัติหน้าที่รักษาทรัพย์ที่รับจำนำดังกล่าวจำเลยทั้งสองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำทองรูปพรรณซึ่งเป็นของปลอมไปสับเปลี่ยนกับทรัพย์ที่รับจำนำซึ่งเป็นของแท้จำนวน 148 รายการ คิดเป็นราคาที่รับจำนำไว้ 1,285,100 บาท และเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์รับจำนำประเภททองรูปพรรณ จำนวน 4รายการ คิดเป็นราคาที่รับจำนำไว้ 30,000 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานการจำหน่าย ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นค่าเสียหายจากทรัพย์ที่รับจำนำถูกเปลี่ยนเป็นของปลอมจำนวน148 รายการ เป็นเงิน 1,285,100 บาท ค่าเสียหายที่ทรัพย์รับจำนำสูญหายจำนวน 4 รายการ คิดตามราคาท้องตลาดเป็นเงิน 43,200 บาทค่าเสียหายจากดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ปรากฏในตั๋วรับจำนำถึงวันที่ 11 กันยายน 2530 จำนวน 85,325.25 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,413,625.25 บาท โจทก์ได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 152,183.62 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องได้รับชดใช้เป็นเงิน 1,261,441.63 บาท การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยทราบแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามคดีหมายเลขแดง2268/2532 ของศาลแพ่ง เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,261,441.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่11 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ขาดอายุความ และไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1377/2530 ของศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเปลี่ยนทรัพย์ที่รับจำนำเป็นของปลอมโจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานแก่จำเลยที่ 2กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดพันธบัตรรัฐบาลไว้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน1,261,441.63บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้โจทก์ คำขอของจำเลยที่ 2 ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สนิทกัน จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่บนชั้น 3ของสำนักงานสถานธนานุบาลมีนบุรี มีการสับเปลี่ยนทองนับร้อยรายซึ่งต้องทำมาเป็นเวลานาน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำเพียงคนเดียวแต่จำเลยที่ 2 ต้องรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการสับเปลี่ยนทองคำที่รับจำนำไว้ด้วย เมื่อผู้จัดการสถานธนานุบาลมีหน้าที่ตามคำสั่งของสำนักงานกลาง จสธก. ที่ 18/2518 เอกสารหมาย จ.4โดยหน้าที่หลักแล้วผู้จัดการมีหน้าที่ปฏิบัติและควบคุมบังคับบัญชาตลอดจนรับผิดชอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งในสถานธนานุบาลที่ผู้จัดการนั้นรับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบการต่าง ๆ ว่าด้วยการรับจำนำ จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน1,261,441.63 บาท
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1377/2530 ของศาลจังหวัดมีนบุรีเห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานความผิดเรื่องยักยอก และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 ก็ตาม แต่เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนี้อาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นเป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน ในเมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนคดีอาญา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในมูลของการผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วยดังที่กล่าวไว้แล้วคำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40จึงนำบทบัญญัติในมาตรา 46 มาใช้กับการพิจารณาคดีนี้ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ไม่ได้
พิพากษายืน.

Share