คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งที่กฎหมายบัญญัติว่ามีฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ย่อมมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตลอดเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นยังดำรงตำแหน่ง ดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ใดจะต้องเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในวันเวลาใดเป็นเพียงระเบียบหรือข้อบังคับภายในของหน่วยราชการที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ ไม่มีผลทำให้เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนไม่มีฐานเป็นพนักงานสอบสวน ดังนั้นแม้ในขณะที่ร้อยตำรวจเอก ป. รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วม ร้อยตำรวจเอก ป. ยังไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ก็ต้องถือว่าร้อยตำรวจเอก ป.มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนในขณะที่รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมการสอบสวนของร้อยตำรวจเอก ป. เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 335, 352, 353 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนทรัพย์ที่ลักและยักยอกไปหรือใช้ราคา 588,066 บาท แก่เจ้าของ
ระหว่างพิจารณา นายปรีดา สินสมบูรณ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (ที่ถูกมาตรา 335 วรรคสาม)ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3กระทำความผิด 5 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 ปีและจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปีคำรับสารภาพชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 กับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2มีกำหนดคนละ 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือนจำคุก จำเลยที่ 4 มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยที่ 1 คืนน้ำดื่มตราสิงห์1 คืนน้ำดื่มตราสิงห์ 2 ลัง ขวดโซดา กับขวดน้ำดื่มตราสิงห์ 3 ลังหรือใช้ราคา 600 บาท แก่โจทก์ร่วม ให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน1,599 บาท แก่โจทก์ร่วม ให้จำเลยที่ 3 คืนสุราแม่โขงชนิดขวดกลมจำนวน 5 โหล สุราแม่โขงชนิดขวดแบนจำนวน 3 โหล และเบียร์ตราสิงห์จำนวน 8 โหล หรือใช้ราคา 9,987 บาท แก่โจทก์ร่วมโดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 3 คืนสุราแม่โขงชนิดขวดกลมจำนวน 4 โหล หรือใช้ราคา 3,552 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าร้อยตำรวจเอกประเวศน์ ต้นสมบุรณ์ พนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากในขณะที่ร้อยตำรวจเอกประเวศน์รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมร้อยตำรวจเอกประเวศน์ยังไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน การสอบสวนของร้อยตำรวจเอกประเวศน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งที่กฎหมายบัญญัติว่ามีฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ย่อมมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตลอดเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นยังดำรงตำแหน่งดังกล่าวการที่เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ใดจะต้องเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในวันเวลาใด เป็นเพียงระเบียบหรือข้อบังคับภายในของหน่วยราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้นั้นสังกัดอยู่ซึ่งระเบียบหรือข้อบังคับภายในดังกล่าวไม่มีผลทำให้เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนไม่มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ดังนั้น แม้จะฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าในขณะที่ร้อยตำรวจเอกประเวศน์รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมร้อยตำรวจเอกประเวศน์ยังไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนก็ต้องถือว่าร้อยตำรวจเอกประเวศน์มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนในขณะที่รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วม การสอบสวนของร้อยตำรวจเอกประเวศน์ในคดีนี้เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share