คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2467

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่ดินแปลสัญญา

ย่อยาว

ม. เจ้ของที่ดินไม่มีโฉนดแผนที่ได้อนุญาตให้พวกจีนปลูกศาลเจ้าแลโรงงิ้วขึ้นในส่วนหนึ่งของที่ดินรายนี้ ต่อมา ม. ได้ขายที่นี้ให้ ย. ย. ได้ขายที่นี้ให้แก่จำเลย ในหนังสือซื้อขายทั้ง ๒ ฉบับได้มีข้อความสงวนกรรมสิทธิของศาลเจ้าไว้ หนังสือสัญญาขายฉบับหลังมีข้อความว่า ” แต่ที่ศาลเจ้าเทพรักษ์โรงงิ้ว แลศิลาปูน่าศาล ศิลาบันไดท่าน้ำเหล่านี้พระยกมหาโยธาไม่ยอมขาย ขายแต่ที่ตึก เรือนโรง รวม ๑๒ หลังกับศิลาที่ปูไว้กับพื้นที่เท่านั้น ”
แต่ที่หลวงซึ่งเรียกว่าตึกแดง กับที่ศาลเจ้าเทพารักษ์โรงงิ้วตั้งอยู่ห่างศาลเจ้า ๘ วา ๓ ศอกอยู่ในระหว่างที่รายนี้กับโรงเรือนราษฎรมาเช่าปลูกอาศรัยอยู่นั้น เปนที่นอกส่วนหาได้เกี่ยวในการซื้อขายไม่ “โจทย์ฟ้องขับไล่ อ้างว่าข้อความเหล่านี้กินตลอดอาณาเขตที่ดิน ฝ่ายจำเลยเถียงว่าสิ่งที่ไม่ได้ขายกันมีเพียงศาลเจ้า โรงงิ้ว แลศิลาปูน่าศาลเจ้าแลริมตลิ่ง ส่วนที่ดินที่ปูนศิลาเหล่านั้นหาได้ยกเว้นจากการขายไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำในสัญญาอาจแปลได้เปน ๒ ทาง คือ ๑. เปนแต่เพียงศิลาเปล่า ๆ หรือ ๒. ที่ดินซึ่งศิลานั้นปูอยู่ ศาลฎีกาเห็นว่าจะต้องแปลตามที่ปรากฏว่าเปนทางที่ควรที่สุดเมื่อได้คิดถึงข้ออื่น ๆ ในสัญญานั้นด้วย แลทั้งพึงเห็นได้ว่าน่าจะเปนความตั้งใจของคู่สัญญา สิ่งที่ยกเว้นอาจแปลว่า หมายความเฉพาะศิลาเปล่า ๆ เท่านั้นก็ได้ถ้าปรากฎว่าศิลานั้นมีค่าเปนพิเศษซึ่งไม่ปรากฎในทางพิจารณาเลย อนึ่งถ้าจะวินิจฉัยตามข้อค้านของจำเลยแล้ว ก็เกือบจะเปนการไม่สามารถเข้าออกที่ศาลเจ้าแลโรงงิ้วได้ จำเลยเถียงอีกว่า หนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่าที่ดินด้านเหนือยาว ๑๖ วา ถ้าจะเอาเนื้อที่ซึ่งปูศิลาออกก็จะเหลือยาวไม่ถึง ๑๖ วาตามสัญญา ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการกล่าวถึงด้าน ๑๖ วานี้เปนคำพรรณลักษณแลชี้เพื่อให้รู้เนื้อที่ทั้งแปลง เมื่อได้พรรณาดังนั้นแล้วจึงได้กล่าวถึงการยกเว้นที่ไว้ ข้อความ ๒ ตอนในหนังสือสัญญาไม่ขัดกันเลย ถ้าแม้ที่ซึ่งปูศิลายาวตลอดทั้ง ๑๖ วาแล้วบางทีจะเปนเหตุให้การวินิจฉัยเปนอย่างอื่นได้ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้วการยกเว้นที่ ๆ ปูศิลาทั้งหมดก็จะไม่มีด้านที่ติดลำน้ำเลย ความจริงในเรื่องนี้ที่ซึ่งปูศิลานั้นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของด้านที่ติดลำน้ำเท่านั้น คำค้านในข้อนี้ย่อมตกไปให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share