คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเองจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์ คดีไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนี้ไว้ เพราะจะขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยให้การไว้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับการยกให้จากนาย ช. บิดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทเดิม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้จึงเป็นการมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 งาน 83 ตารางวา และเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 34 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยได้รับการให้มาจากนางเทื้อม ศิลปกอบ มารดา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินของโจทก์เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านของโจทก์คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ และไม่ยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไป จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์ดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีและบ้านเลขที่ 34 หากจำเลยและบริวารไม่ยอมออกไป ขอให้จับกุมหรือคุมขังจำเลยไว้จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเป็นผู้สิทธิครอบครองที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จดถนนเพชรเกษม ทิศตะวันออกจดที่นางเทื้อมศิลปกอบ และทิศตะวันตกจดที่ดินนายสมใจ พ่วงสวัสดิ์ และนางประเสริฐ จันทร์ปรุง เนื้อที่ประมาณ 1 งาน 80 ตารางวา โดยได้รับการยกให้มาจากนายชมเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว พร้อมบ้านเลขที่ 34 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หลังจากได้รับยกให้แล้วจำเลยเข้าครอบครองที่ดินและบ้านโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2535 นางเทื้อมขอออกโฉนดที่ดินของนางเทื้อมทางด้านทิศตะวันออก และนางเทื้อมได้ชี้เขตที่ดินเข้ามาในที่ดินของจำเลยดังกล่าว จำเลยคัดค้าน นางเทื้อมจึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินจำเลยครอบครองได้ แต่โดยการแนะนำของทนายความว่านางเทื้อมฟ้องจำเลยไม่ได้เพราะมาหาทนายความเกินหนึ่งปีตั้งแต่จำเลยคัดค้านดังกล่าว ทนายความจึงแนะนำให้นางเทื้อมโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2537 เพื่อนำไปออกโฉนดที่ดิน โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินและจะรังวัดเข้ามาในที่ดินที่จำเลยครอบครองอีก จำเลยคัดค้าน ฉะนั้น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ทั้งที่ทราบว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนมาตั้งแต่ต้นจึงเกินหนึ่งปีนับแต่ถูกรบกวนการครอบครองหรือแย่งการครอบครองโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยและไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 29 หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และบ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 กันยายน 2538) จนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางเทื้อม ศิลปกอบ และจำเลยเป็นบุตรนายชม พ่วงสวัสดิ์ โจทก์เป็นบุตร นางเทื้อม เดิมนายชมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเลขที่ 29 หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 2 งาน 68 ตารางวา เอกสารหมาย จ.8 ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2511 นายชมมอบอำนาจให้นางเทื้อมมีอำนาจจัดการขอรับรองการทำประโยชน์และแบ่งเวนคืนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาคำขอรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.7 และ จ.15 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 3 งาน 15 ตารางวา ให้แก่นายชมตามเอกสารหมาย จ.3 วันที่ 31 มกราคม 2515 ที่ดินดังกล่าวถูกแบ่งเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายนครปฐม – เพชรบุรี เนื้อที่ 43 ตารางวา วันที่ 11 พฤษภาคม 2515 นายชมยกที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 2 งาน 72 ตารางวา ให้แก่นางเทื้อม วันที่ 20 กันยายน 2536 นางเทื้อมแบ่งที่ดินดังกล่าวให้นางประเสริฐ จันทร์ปรุง เนื้อที่ 43 ตารางวา ให้จำเลยเนื้อที่ 42 ตารางวา และให้นายสมใจ พ่วงสวัสดิ์ เนื้อที่ 32 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ 1 งาน 83 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท เดือนกุมภาพันธ์ 2537 นางเทื้อมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 3 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2537 โจทก์ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.22 จำเลยคัดค้านการรังวัด คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่… เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน แม้จะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความมิใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด โจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยแล้วยังมีพยานเอกสารคือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความเพียงลอยๆ ว่านายชมบิดาจำเลยยกที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเลขที่ 34 ให้แก่จำเลย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุน แม้จำเลยจะมีนายถิ่นและนายผิวเพื่อนบ้านมาเป็นพยานว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทและบ้านทรงไทยตลอดมาก็ตาม แต่พยานจำเลยทั้งสองปากดังกล่าวเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่นายชมยกที่ดินพิพาทและบ้านทรงไทยตามที่จำเลยอ้าง นอกจากนี้ก่อนที่นายชมจะยกที่ดินให้แก่นางเทื้อมและนางเทื้อมจะยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้มีการประกาศให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบก่อนจดทะเบียนการให้ตามระเบียบแล้ว ตามสำเนาประกาศอำเภอเมืองเพชรบุรี และสำเนาประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 จำเลยก็มิได้ไปโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางเทื้อม เมื่อนางเทื้อมยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์พิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางเทื้อม เมื่อนางเทื้อมยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป จำเลยและบริวารก็ต้องออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นางเทื้อมได้เบิกความว่า เคยนำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินพร้อมกับที่ดินที่ซื้อมาจากนายคงเมื่อปี 2535 แต่จำเลยคัดค้านไว้ จึงออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้นางเทื้อมไม่ได้ คงออกโฉนดที่ดินได้เฉพาะที่ดินที่ซื้อมาจากนายคงเท่านั้น ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินอีก และนำช่างไปรังวัดที่ดินเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 จำเลยก็คัดค้านอีก โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อปี 2538 จึงเป็นการเกินหนึ่งปีนับจากวันที่นางเทื้อมถูกรบกวนการครอบครอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 วรรคสอง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญและบ้านเลขที่ 34 โดยได้รับการยกให้จากนายชมบิดาจำเลย จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวตลอดมา จึงไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเองจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 หรือไม่ ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนี้ไว้ เพราะจะขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยให้การไว้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับการยกให้จากนายชม บิดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทเดิม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้จึงเป็นการมิชอบ ทั้งปัญหานี้มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696 – 700/2543 (ที่ถูก 696- 700/2493) ระหว่าง นางมอญ ละมูลเกตุ โจทก์ กับนางฮอ วงมณีฉาย กับพวก จำเลย ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share