คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1ถึงที่6และป. เจ้ามรดกของจำเลยที่7ได้ร่วมกันขออายัดที่ดินของโจทก์ไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาโดยอาศัยคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ด. ผู้จะซื้อเมื่อวันที่19ธันวาคม2532แสดงว่าโจทก์รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่นั้นมาโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่11พฤษภาคม2535เกินกำหนดหนึ่งปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคหนึ่งโจทก์จะอ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้องหาได้ไม่ ที่โจทก์อ้างว่าเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา263ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้จึงต้องบังคับตามอายุความทั่วไปคืออายุความ10ปีนั้นเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์โดยชอบต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนางสาวประจวบได้ร่วมกันอายัดที่ดินของโจทก์ไว้ โดยอาศัยคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 690/2532 ซึ่งให้อายัดที่ดินของโจทก์ไว้ชั่วคราวระหว่างการพิจารณา อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตจงใจทำละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 690/2532 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่556/2534 จำเลยทั้งเจ็ดก็ยังไม่ยอมไปถอนอายัดที่ดินของโจทก์และยังยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวอีกซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงยังคงเป็นการละเมิดโจทก์ตลอดไป ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 7,169,600 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 173,200 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 556/2534 ของศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดหรือจำเลยทั้งเจ็ดได้ถอนการอายัดที่ดินโฉนดเลขที่1036 โดยให้จำเลยที่ 7 ชำระหนี้จากกองมรดกของนางสาวประจวบแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนางสาวประจวบร่วมกันทำละเมิดฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม โจทก์เสียหายไม่เกิน 50,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่ถอนอายัดที่ดินของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และนางสาวประจวบ ศุภกำเนิด ได้ร่วมกันขออายัดที่ดินของโจทก์ไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาโดยอาศัยคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 690/2532 ของศาลชั้นต้น เป็นที่เห็นได้ว่ามูลละเมิดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนางสาวประจวบที่ร่วมกันขออายัดที่ดินโจทก์ไว้เท่านั้น กรณีหาใช่การกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้องดังโจทก์ฎีกาไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน” เมื่อได้ความตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งเจ็ดว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 โจทก์ขายที่ดินไม่ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินตามคำขอของจำเลยที่1 ถึงที่ 6 และนางสาวประจวบย่อมแสดงว่า โจทก์รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่นั้น โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา และศาลได้มีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ขอมีเหตุอันควร และเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษามาใช้ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งเจ็ด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 263 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดเรื่องอายุความไว้จึงต้องบังคับตามอายุความทั่วไป คือ อายุความ 10 ปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์โดยชอบ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share