คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายต้องว่า “ฯลฯ โดยจำเลยสมคบกันกับพวก 2 คนมีอาวุธลักมาหรือรับไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิด” ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์ได้บรรยายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยในคดีแล้ว และคำว่า “กระทำผิด” นั้น ก็หมายถึงการกระทำผิดต่อกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เวลากลางวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔+๘ มีคนร้ายลักกระบือนายทอง แสงนิลไป ๑ ตัว รุ่งขึ้นเวลากลางวันพบจำเลยไล่กระบือที่หายไปโดยจำเลยสมคบกับพวกอีก ๒ คนมีอาวุธลักมาหรือรับไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิด ขอให้ลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกา คือ (๑). จำเลยว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงพวกจำเลย ๒ คนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดรายนี้ ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ศาลฎีกาเห็นว่า ในฟ้องก็ได้กล่าวถึงจำเลยกับพวกอีก ๒ คนว่ามีอาวุธ จึงไม่เห็นจำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายอะไรอีก (๒) . จำเลยว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกรับกระบือรายนี้ไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิดให้+ไม่มีคำว่า “ต่อกฎหมาย” ไม่เป็นฟ้องที่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำในที่นี้ ก็หมายความว่า การกระทำผิดต่อกฎหมายการที่ฟ้องโจทก์ขาดคำว่า “ต่อกฎหมาย” ไปเท่านั้น หาจำให้ฟ้องเสียไปไม่ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share