คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46วรรคสอง มีความว่า ‘การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่าการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดตามข้อ 47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ’และวรรคสามมีความว่า ‘ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นหรือลูกจ้างประจำที่นายจ้างแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่า ให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันและยังอยู่ในระยะเวลานั้น’ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าถ้ากฎหมายมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ถือว่าการเลิกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเพราะเหตุอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็ย่อมจะแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงมหาดไทยระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ได้ดังตัวอย่างในวรรคสาม
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 2คำว่า’ค่าชดเชย’ หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยนั้นมิได้มีลักษณะที่แสดงว่ามุ่งหมายจะจ่ายให้อย่างค่าชดเชย หากแต่เป็นเงินซึ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างในลักษณะที่เป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการที่ได้ทำงานมาโดยไม่มีความผิดทางวินัยจนกระทั่งออกจากงาน หรือลาออกเอง หรือถึงแก่กรรมด้วยและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินก็แตกต่างกับการจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นเงินประเภทอื่นที่กล่าวไว้ในบทนิยามคำว่า’ค่าชดเชย’จำเลยจะขอให้ถือการที่จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งเนื่องจากโจทก์มีอายุเกิน 60 ปี ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯโดยจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 32,910บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยจากจำเลย เพราะโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้พ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี เป็นการครบเกษียณอายุตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องโจทก์ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ไม่ใช่กรณีการเลิกจ้างอันจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและจำเลยก็ปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วตามข้อบังคับขององค์การจำเลย โจทก์ได้รับบำเหน็จไปแล้วเป็นเงิน 16,455 บาท ถ้าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยอีกก็คงต้องจ่ายอีกเพียง 16,455บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 32,910 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ตามที่แก้ไขโดยประกาศฯ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ข้อ 1 อันเป็นประกาศฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่โจทก์ออกจากงานนั้น วรรคสองมีความว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดตามข้อ 47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16เมษายน 2515 ฯลฯ” และวรรคสามมีความว่า “ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น หรือลูกจ้างประจำที่นายจ้างแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันและยังอยู่ในระยะเวลานั้น” ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้ากฎหมายมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ถือว่าการเลิกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเพราะเหตุอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็ย่อมจะแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงมหาดไทยระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ได้ดังตัวอย่างในวรรคสาม การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งอันเป็นการปฏิบัติการตามกฎหมาย คือพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 นั้น ไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 2 คำว่า “ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แต่การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยนั้น มิได้มีลักษณะที่แสดงว่ามุ่งหมายจะจ่ายให้อย่างค่าชดเชย หากแต่เป็นเงินซึ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างในลักษณะที่เป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการที่ได้ทำงานมาโดยไม่มีความผิดทางวินัยจนกระทั่งออกจากงาน หรือลาออกเองหรือถึงแก่กรรมด้วย และหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินก็แตกต่างกับการจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นที่กล่าวไว้ในบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” จำเลยจะขอให้ถือการที่จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share