แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้นหาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลาง คือ กรมอนามัย ผู้เสียหายไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องวาโจทก์เป็นนิติบุคคลตามบทกฎหมายโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดพิจิตร จำเลยรับเงินเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่จากประชาชนผู้เจ็บป่วย โดยชอบแล้วจำเลยมีหน้าที่นำส่งให้แก่ทางราชการตามหน้าที่และตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติหน้าที่และตามระเบียบของทางราชการดังกล่าวไม่ โดยจำเลยได้นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และโดยทุจริต และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายสูญเสียเงินของทางราชการเป็นเงิน ๑๗๕,๐๐๐ บาท จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้สินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมายขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗๕,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๘พฤศจิกายน ๒๕๒๘ เป็นต้นไป จนกว่าจะใช้เงินโจทก์เสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ และให้การตัดฟ้องว่า จำเลยรับราชการสังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดพิจิตร แต่ก็เป็นเพียงลำดับการบังคับบัญชาตามสายงานของฝ่ายบริหารของทางราชการเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจทำการฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ในกรณีที่มีการละเมิดเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่สังกัดอยู่ในกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นเหตุให้กรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหาย และตามฟ้องของโจทก์ก็เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยได้กระทำการอันเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและโดยสุจริต ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหาย โจทก์เองหาได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้งดการชี้สองสถาน แล้ววินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องตามคำร้องขอของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายสูญเสียเงินของทางราชการไป ๑๗๕,๐๐๐ บาทแต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินค่าบำบัดรักษาโรคให้แก่ประชาชนผู้เจ็บป่วยจำนวน ๑๗๕,๐๐๐ บาท ที่จำเลยทุจริตยักยอกเอาไปนั้นกรมอนามัยเป็นผู้เสียหาย หาใช่โจทก์เป็นผู้เสียหายไม่โจทก์ก็มิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ จึงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์มิได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำของจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายในคดีนี้คือสถานีอนามัยตำบลวังตะกู สังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางมูลนาก ซึ่งสังกัดอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรโดยมีสาธารณสุขจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งรับผิดชอบในราชการของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะดำเนินการแทนหน่วยงานซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัดได โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายซึ่งในคดีนี้ค้อกรมอนามัยไม่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลางซึ่งสถานีอนามัยตำบลวันตะกูสังกัดอยู่ให้มีอำนาจในการดำเนินคดีแพ่งในกรณีนี้ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ ๒/๒๕๒๑ นั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์มิได้กล่าวอ้างตามข้อนี้มาในฟ้อง แต่กลับอ้างว่าโจทก์เองเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์คำสั่งดังกล่าวที่โจทก์คัดสำเนาแนบมาท้ายฟ้องฎีกาแล้ว ปรากฏว่า ข้อ ๑ของคำสั่งดังกล่าวนี้ระบุเพียงว่า การแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญาเมื่อเกิดการทุจริตหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนได้นั้น ก็เป็นการมอบอำนาจในเรื่องการแจ้งความเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุชัดว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนกระทรวงสาธารณสุขกรมอนามัยแต่ประการใด…”
พิพากษายืน.