คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การริบทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้แต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ , ๙ , ๙๘ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๓๗ กับริบทรัพย์ดังกล่าว และสั่งให้จำเลยส่งทรัพย์สินที่ริบให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ , ๙ , ๙๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๓๗ จำคุก ๘ เดือน และปรับ ๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ เดือน และปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ ริบของกลาง และให้จำเลยส่งทรัพย์สินที่ริบให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ควรริบเครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งของจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าเครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด อันจะเข้าข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ นอกจากนี้ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำถึง ๕ บ่อ จำนวนพื้นที่ถึง ๑๔ ไร่ น้ำเค็มที่ถูกปล่อยออกจากพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำจึงมากมายมหาศาลสร้างความเดือดร้อนแก่พื้นที่ทำนาใกล้เคียงอย่างมาก ศาลควรริบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเสียด้วย เพื่อจะมิได้กระทำผิดอีกต่อไป เห็นว่า การริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ไม่ริบของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share