แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างกับลูกจ้างจะทำข้อตกลงกันใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 แล้วดำเนินการตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 13 ด้วย นายจ้างไม่อาจกระทำได้ฝ่ายเดียว
การที่ลูกจ้างเล่นการพนันในบริเวณโรงงานเป็นครั้งแรก ไม่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยมิได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือก่อน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 (3)
ในการการชี้ขาดคำร้องตามมารา 125 เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าการกระทำของนายจ้างตามที่ถูกลูกจ้างยื่นคำร้องกล่าวหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็มีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องมีคำขอเรียกร้องค่าเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (จำเลยทั้ง ๙) ที่ชี้ขาดว่าการที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้าของโจทก์ ๖ คน ที่เล่นการพนันในระหว่างการทำงานว่าเป็นคำสั่งเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ ที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ทั้งหกคนก็เป็นการสั่งนอกคำขอและฝ่าฝืนกฎหมาย
จำเลยทั้ง ๙ ให้การว่า คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์ไม่ชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้าง การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายไม่เป็นการนอกคำขอหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้าง คำสั่งของจำเลยชอบแล้วและไม่เกินคำขอ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ลูกจ้างโจทก์ทั้งหกคนเล่นการพนันเป็นครั้งแรกนั้น ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า ให้เป็นการกระทำผิดทางวินัยที่มีโทษสถานค่อนข้างหนัก ลูกจ้างจะถูกตัดค่าจ้างร้อยละ ๑๐ เป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อตกลงไว้ดังนี้แล้วโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างจำต้องปฏิบัติตาม การที่โจทก์ออกคำสั่งต่อมาห้ามมิให้ลูกจ้างเล่นการพนันในบริเวณโรงงาน หากฝ่าฝืนจะพิจารณาลงโทษสถานหนัก จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของโทษทางวินัยให้หนักขึ้นและแตกต่างไปจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ไม่อาจกระทำได้แต่ฝ่ายเดียว เพราะฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิออกคำสั่งห้ามลูกจ้างเล่นการพนันในบริเวณโรงงาน เมื่อลูกจ้างฝ่าฝืนโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา ๑๒๓ ิ(๓) นั้น เห็นว่าบทบัญญัตินี้ให้สิทธินายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง เมื่อนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ในกรณีนี้ลูกจ้างทั้งหกคนไม่เคยถูกกล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ และโจทก์จะถือว่าการที่ลูกจ้างเล่นการพนันเป็นครั้งแรกเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างร้ายแรง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ (๓) หาได้ไม่
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายเพราะว่าเป็นคำสั่งนอกคำขอของลูกจ้างซึ่งมิได้เรียกร้องค่าเสียหายมาด้วยนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (๔) วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา ๑๒๕ และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร” ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าการกระทำของโจทก์ตามที่ถูกลูกจ้างยื่นคำร้องกล่าวหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องมีคำขอเรียกร้องค่าเสียหาย
พิพากษายืน.