คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำสั่งให้ริบเป็นของ ว.ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอเช่าซื้อมา แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1มีเงินไม่พอจึงไปติดต่อผู้ร้องเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงได้ซื้อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมาจาก ว. และได้ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้ออีกทอดหนึ่ง ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์จึงตกเป็นของผู้ร้องแล้วโดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องเอารถจักรยานยนต์เข้ามาอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องก่อน และไม่จำต้องโอนใส่ชื่อผู้ร้องในคู่มือการจดทะเบียนด้วย ทั้งการทำสัญญาเช่าซื้อนี้ก็มิใช่นิติกรรมอำพรางการกู้เงินของจำเลยที่ 1 เพื่อไปซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางด้วย เมื่อผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้อง ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดจริงตามฟ้องจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี 3 เดือน รถจักรยานยนต์ของกลางให้ริบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ที่ศาลสั่งริบ ผู้ร้องได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2532 แล้วจำเลยที่ 1ผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลสั่งคืนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 4 ฌ-9286 แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง และผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการซื้อจัดหา รับ เช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง ปรับปรุง ใช้และจัดการโดยประการอื่น ซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ด้วย ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.1 นายสุเทพ ทัพภะทัต ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าเดิมรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของนายวินัย ตั้งเซ็น จำเลยที่ 1ในคดีนี้ไปติดต่อขอเช่าซื้อจากร้านเม้งยานยนต์ แต่จำเลยที่ 1มีเงินไม่พอจึงไปติดต่อกับผู้ร้องเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงได้ซื้อรถจักรยานยนต์คันนั้นมาจาก นายวินัยในราคา 30,000 บาทเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2532 ปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.3นายวินัยได้มอบรถจักรยานยนต์ทั้งคู่มือการจดทะเบียนเอกสารหมาย ร.4และใบมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.5 ให้แก่ผู้ร้องด้วย และผู้ร้องได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้ออีกทีหนึ่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2532ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.7 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อได้เพียง 2 งวด งวดที่ 3 ก็ไม่ชำระ ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้ร้องมีนายวิโรจน์ทองเพิ่มสิน พนักงานฝ่ายสินเชื่อของผู้ร้องมาเบิกความได้ข้อเท็จจริงตรงกัน จึงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้ซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมาจากนายวินัยและให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจริงกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้วโดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องเอาทรัพย์ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเข้ามาอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องก่อนและไม่จำเป็นต้องโอนใส่ชื่อผู้ร้องในคู่มือการจดทะเบียนดังที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด ทั้งกรณีไม่อาจฟังข้อเท็จจริงว่าวิธีการที่ผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์จากนายวินัยและมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อดังกล่าวข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเช่าซื้อนั้นเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางการกู้เงินของจำเลยที่ 1 เพื่อไปซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางด้วย เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share