คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติให้ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นผู้ที่จะฟ้องบังคับภาระจำยอมจำต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้ดำเนินกิจการโรงเรียน จ. ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้เปิดทาง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าทางเดินเข้าออกกว้างประมาณ 6 ถึง 11 เมตรยาวประมาณ 33 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 539 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ของจำเลยตามแผนที่พิพาทที่ระบายด้วยสีส้มเป็นทางภาระจำยอมและมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วลวดหนามที่เขียนด้วยหมึกสีแดงและสีม่วงในแผนที่พิพาทดังกล่าวออก โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหากจำเลยเพิกเฉยก็ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางเดินในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 539 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี ความกว้าง 6 ถึง 11 เมตร ยาวประมาณ 33 เมตร เป็นทางจำเป็นสำหรับโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยเปิดทางดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 เพื่อให้รถยนต์และบุคคลเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกโดยไม่จำต้องรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วลวดหนาม ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยถึงแก่กรรม นางบุญช่วย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ทางเดินเข้าออกกว้างประมาณ 6 ถึง 11 เมตร ยาว 33 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 539 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ของจำเลยตามที่ระบายด้วยหมึกสีส้มในแผนที่พิพาท เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ส่วนในการรื้อถอนรั้วเหล็กกั้นตามภาพถ่ายประตูทางเข้าทางพิพาท ให้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 จำเลยและนายบรรชิต เป็นบุตรของนางเฮียง และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 538, 539 และ 540 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีตามลำดับ ซึ่งเดิมที่ดินทั้งสามเป็นแปลงเดียวกันโดยเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเฮียงตามแผนที่พิพาท เมื่อปี 2490 นางเฮียงได้ก่อตั้งโรงเรียนเจียหมินโดยสร้างอยู่บนที่ดินด้านทิศตะวันตกมีทางเดินเข้าออกสู่ถนนเจ้าสำอางค์ไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวไปทางทิศใต้ออกสู่ถนนเจ้าสำอางค์ โดยนางเฮียงได้แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ที่ 1 จำเลย และนายบรรชิตครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน ต่อมาเมื่อนางเฮียงถึงแก่ความตายจึงมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยและนายบรรชิตดังกล่าว โดยโรงเรียนเจียหมินอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 538 ของโจทก์ที่ 1 ส่วนทางเดินเข้าออกของโรงเรียนเจียหมินอยู่บนที่ดินของจำเลยและนายบรรชิตโจทก์ที่ 1 ดูแลกิจการโรงเรียนเจียหมินจนถึงปี 2525 จึงโอนกิจการให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการ แต่มิได้โอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ครู นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเจียหมินใช้ทางพิพาทที่ผ่านที่ดินโจทก์ที่ 1 จำเลยและนายบรรชิตออกสู่ถนนเจ้าสำอางตลอดมาเป็นเวลา 50 ปี จำเลยได้ทำประตูและรั้วลวดหนามปิดกั้นทางเข้าออกดังกล่าว ทำให้โจทก์ที่ 1 ครู นักเรียนและผู้ปกครองไม่สามารถใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกทางพิพาทดังกล่าวได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นแรกว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติให้ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นผู้ที่จะฟ้องบังคับภาระจำยอมจำต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้ดำเนินกิจการโรงเรียนเจียหมิน ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 538 ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้เปิดทาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 และบริวารใช้ทางพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี หรือไม่ โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า หลังจากนางเฮียงมารดาของโจทก์ที่ 1 ก่อตั้งโรงเรียนเจียหมินบนที่ดินของโจทก์ที่ 1 แล้วได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกโรงเรียนสู่ถนนเจ้าสำอางมาตลอด และนายชาญชัย พยานโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยยินยอมให้โรงเรียนใช้ทางพิพาทตลอดมา นอกจากนี้นางวิจิตร ผู้จัดการมรดกของนางเฮียงและพี่สาวของโจทก์ที่ 1 จำเลยและนายบรรชิตเบิกความว่า บิดามารดาสั่งให้พี่น้องทุกคนใช้ทางพิพาทร่วมกัน รวมทั้งครูและนักเรียนด้วย บรรดาทายาทของนายเฮียงจึงทำหนังสือยินยอมให้ใช้ทางพิพาทจึงเป็นการใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของมารดาโจทก์ที่ 1 และสิทธิของจำเลยทั้งโจทก์ที่ 1 มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้เปลี่ยนเจตนาการใช้ทางพิพาทโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทแต่อย่างใดแม้โจทก์ที่ 1 จะใช้ทางพิพาทเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 50 ปี ก็หาได้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share