คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยพินัยกรรมศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกขอแบ่งเงินฝากธนาคารในฐานะทายาทโดยธรรมและโดยพินัยกรรมเป็นการฟ้องซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์อย่างเดียวหรือคนละอย่างกับทรัพย์ในคดีก่อน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6/2512 หมายเลขแดงที่ 422/2515 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 2,606,800 บาท โดยมีบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายแนบมาท้ายฟ้อง บัญชีทรัพย์นั้นได้แสดงเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายด้วย โจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นเงิน530,000 บาท ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมคนหนึ่ง ในที่สุดโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมให้เงินโจทก์ 350,000 บาท กับยกที่ดินให้อีก 1 แปลง โดยโจทก์จะไม่เรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่พิพาทกันในคดีดังกล่าวอีกต่อไป ศาลได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2515 คดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ให้จำเลยแบ่งเงินที่ผู้ตายฝากธนาคารออมสินไว้ให้แก่โจทก์อีก 136,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดกจากเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายอีกในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทโดยธรรม (น้องชายผู้ตาย) และเป็นทายาทโดยพินัยกรรมจึงเป็นการเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยมาแบ่งให้โจทก์อีก ไม่ว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีหลังนี้จะเป็นทรัพย์อย่างเดียวกันหรือคนละอย่างกับคดีก่อน โดยเฉพาะเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายที่โจทก์มาฟ้องขอแบ่งคดีนี้ โจทก์ก็ได้ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องคดีก่อนว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 148/2495 ระหว่างนางเฮียง สภารัตน์ ในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงมุยเตียงกับพวกโจทก์ นายสุย แซ่ตังกับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 1219/2519 ระหว่างนายสำลี บัวมาลี โจทก์ นางสมหญิง สดสมศรี จำเลยที่โจทก์อ้างว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกของผู้ตายจากจำเลยในคดีก่อนเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยไม่อาจถอนหรือเบิกเงินจากธนาคารออมสินมาแบ่งให้ได้นั้น ก็เป็นเรื่องขั้นบังคับคดี และที่โจทก์อ้างว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 484/2513 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลฎีกาได้พิพากษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2518 หลังจากที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีก่อน โดยวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลเห็นว่าผู้ร้อง (โจทก์) ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับส่วนแบ่งจากผู้คัดค้าน(จำเลย) ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้ร้องยังมีส่วนได้เสียในกองมรดก แต่เมื่อเทียบกับผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมากกว่าผู้ร้อง” โจทก์จึงถือว่าโจทก์ยังมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวอยู่ มีสิทธิในเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายนั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวมิได้มีประเด็นโดยตรงว่าผู้ร้อง (โจทก์) มีสิทธิที่จะขอแบ่งเงินฝากธนาคารออมสินของผู้ตายหรือไม่ ที่ศาลฎีกากล่าวเช่นนั้นน่าจะหมายถึงส่วนได้เสียในกองมรดกทางอื่น เช่นโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายได้จัดการทำศพผู้ตายไป ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าทำศพจากกองมรดกของผู้ตายได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share