คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 เรื่องทางหลวง ข้อ 76 นั้นกำหนดว่า เงินค่าทดแทนที่จะจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนนั้นต้องกำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเมื่อกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ โดยถือบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2525-2527 อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าวจึงมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 45435 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 3 ชั้น จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล มีจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2527 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับเพื่อสร้างทางและขยายทางหลวงให้รับกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสร้างขึ้นใหม่ใกล้สะพานพระรามหกปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถูกเวนคืนทั้งหมดเป็นเนื้อที่ 32 ตารางวา ต่อมาโจทก์ต้องทำบันทึกรับเงินค่าทดแทนกับจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน320,000 บาท และกำหนดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 1,138,109 บาทกับค่าทดแทนอื่น ๆ อีกจำนวน 82,402 บาทซึ่งโจทก์พอใจในค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและค่าทดแทนอื่น ๆ แต่ในส่วนค่าทดแทนที่ดินนั้นโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองพิจารณาจ่ายโดยไม่เป็นธรรม โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัย โจทก์ขอคิดราคาที่ดินตารางวาละ20,000 บาท เนื้อที่ 32 ตารางวา เป็นเงิน 640,000 บาท เมื่อหักกับค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยแล้วยังขาดจำนวนอีก 320,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 320,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถูกต้องตามกฎหมายด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสมกับสภาพที่ดินของโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 320,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง (วันที่ 13 ตุลาคม 2532) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า เงินค่าทดแทนต้องกำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับคือวันที่ 23 ธันวาคม 2527 (ที่ถูกวันที่ 28 ธันวาคม 2527)ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาที่ดินโดยทำบัญชีกำหนดราคาที่ดินซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2528-2530 ตามเอกสารหมาย จ.17 และบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งยังมิได้ใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เงินค่าทดแทนต้องกำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 แต่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าไม่ปรากฏหลักฐานการซื้อขายที่ดินชัดแจ้งว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีการซื้อขายตามราคาธรรมดาในท้องตลาดเท่าใดจึงถือเอาบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2525-2527 ตามเอกสารหมาย ล.9 เป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทน โดยถือเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในราคาตารางวาละ 10,000 บาทให้โจทก์ แต่ในข้อนี้โจทก์นำสืบมีนายอนุวัฒน์เมธีวิบูลวุฒิ หัวหน้าฝ่ายทะเบียน 1 สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเป็นพยานเบิกความว่า ตามบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งจะใช้บังคับในปี 2531-2534 ที่ดินติดถนนพิบูลสงคราม ระยะ 20 เมตรราคาตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2528-2530 ที่ดินติดถนนพิบูลสงครามลึกเข้าไปไม่เกิน 40 เมตร ราคาตารางวาละ15,000 บาท และมีการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 58847 และโฉนดเลขที่58843 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 และวันที่ 5 เมษายน 2527 ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ซึ่งเป็นที่ดินใกล้เคียงกับพื้นที่ที่กำหนดในบัญชีกำหนดราคาที่ดินเอกสารหมาย จ.17 ก็มีราคาตารางวาละ15,000 บาท อันเป็นการนำสืบว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวที่ได้มีการซื้อขายไปก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในวันที่ 28 ธันวาคม 2527 มีราคาเท่าใด และต่อไปที่ดินบริเวณดังกล่าวจะมีราคาเพียงใด เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดเท่าใด ทั้งนี้เพื่อคำนวณราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในขณะนั้น นอกจากนั้นนายอนุวัฒน์ยังเบิกความอีกว่า ปกติการซื้อขายที่ดินตามท้องตลาดจะซื้อขายกันในราคาสูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ดังนี้ จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดขณะนั้นไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 20,000 บาท ซึ่งเป็นการนำสืบเปรียบเทียบโดยอาศัยหลักฐานทางราชการดังกล่าวประกอบเท่านั้น มิได้เป็นการวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนโดยถือเอาบัญชีกำหนดราคาที่ดินเอกสารหมายจ.17 และบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.10 เป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนโดยตรง และราคาที่กำหนดนี้สูงกว่าราคาตามอัตราที่จำเลยที่ 1 ถือเป็นเกณฑ์กำหนดมากย่อมเห็นได้ว่าค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1กำหนดให้โจทก์โดยถือบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2525-2527 อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าวมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ดังกล่าวหาได้ขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share