คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินพิพาท เป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จำเลยอาศัยสิทธิของกรมป่าไม้จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเขาแหลมหญ้าตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติออกใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ. 2524 ที่ดินพิพาทก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 893(2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1) ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้างแผ้วถางหรือเผาป่า โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องขอกันที่พิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ ดังนั้นการที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะรับโอนมาจากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนนานเท่าใดก็ตามเพราะเป็นที่ดินที่ไม่อาจโอนกันได้ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ซึ่งมารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 จำเลยสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม2509 โจทก์ได้ซื้อที่ดินที่มีสิทธิครอบครองจากนางแต้ม มหาศรัทธา1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งอยู่ที่เชิงเขาแหลมหญ้าหมู่ที่ 1 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง หลังจากซื้อมาแล้ว โจทก์ได้ครอบครองปลูกสร้างอาคารและเก็บผลไม้ในที่ตลอดมา ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2527 โจทก์สร้างที่พักคนงานชั่วคราวเพื่อเตรียมงานก่อสร้าง ได้มีผู้บุกรุกเข้าไปรื้อถอนและนำวัสดุก่อสร้างไปทิ้งลงทะเล โจทก์จึงระงับการก่อสร้างและเมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน จำเลยกับพวกได้บุกรุกไปตัดต้นมะพร้าว 1 ต้น ราคา 500 บาท แล้วได้ปลูกอาคารและศาลพระภูมิขึ้นอย่างละ 1 หลัง ตรงบริเวณที่โจทก์สร้างที่พักคนงาน โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยหยุดทำการก่อสร้างและรื้อถอนออกไป จำเลยไม่ยอมอ้างว่าได้ซื้อที่ดินมาจากนายบุญส่ง พฤกษชาติ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณที่จำเลยบุกรุกเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้วทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าต้นมะพร้าวราคา 500 บาทกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดรายได้จากการปลูกบังกะโลให้เช่าไม่น้อยกว่า 5 หลัง เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างออกไป
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2ซื้อมาจากนายบุญส่ง พฤกษชาติ เมื่อปี 2520 โดยนายบุญส่งได้ครอบครองมาก่อนเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสืบต่อมา จำเลยที่ 2 ไปรับราชการหลายจังหวัดจึงได้มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลแทนจำเลยที่ 2 ได้ปลูกมันสำปะหลัง มะพร้าว และได้ก่อสร้างตึกครึ่งไม้ถาวร รวมทั้งปรับที่ดินให้เหมาะกับการพักผ่อนและได้รับอนุญาตจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าแล้ว ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอให้สอบสวนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าชี้ขาดว่าเป็นที่ดินจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของจำเลยทั้งสองให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ดเขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ดและเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเพอำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยองให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยร่วม ทั้งนี้ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 893 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 975 (พ.ศ. 2525) เพิกถอนที่ดินดังกล่าวออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์อ้างว่าขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อกันที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติในฐานะผู้มีสิทธิหรือทำประโยชน์อยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยร่วมไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ หรือร่วมรู้เห็นกับจำเลยทั้งสองตัดฟันต้นมะพร้าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยร่วมที่โจทก์และจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างสิทธิครอบครองหรือสิทธิการเช่าแล้วเข้าไปทำประโยชน์ปลูกสร้างในที่ดินพิพาทนั้นไม่เป็นความจริง การกระทำของโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และประมวลกฎหมายที่ดินอธิบดีกรมป่าไม้หรือหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเช่าหรือยินยอมให้เข้าไปทำประโยชน์ปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม การที่โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาท เป็นการกระทำโดยพลการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยร่วมต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสองแถลงรับกันฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 200 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ 1ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง และเป็นผู้ตัดฟันต้นมะพร้าวในที่ดินที่พิพาทจำนวน 1 ต้น คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อแรกว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินพิพาท เป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จำเลยอาศัยสิทธิของกรมป่าไม้จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว คดีมีปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเขาแหลมหญ้าตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2524 และก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเป็นเขตอุทยานแห่งชาตินี้ ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 893(2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาตรา 16(1) ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดินรวมตลอดถึงก่นสร้างแผ้วถางหรือเผาป่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยยื่นคำร้องขอกันที่พิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ ดังนั้นการที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะรับโอนมาจากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนนานเท่าใดก็ตาม เพราะเป็นที่ดินที่ไม่อาจโอนกันได้ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ซึ่งมารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ปัญหาว่าเมื่อทางราชการได้ประกาศว่าที่ดินพิพาทเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหลังจากที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางแต้มโจทก์จะเสียสิทธิไปหรือไม่ ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ที่ดินพิพาทก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ก็ห้ามโจทก์เข้ายึดถือครอบครองเช่นเดียวกัน ที่โจทก์อ้างว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share