คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงงานกระสอบป่านเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปในกิจการของโรงงานกระสอบป่าน มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคณะหรือรายบุคคล คณะกรรมการอำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อจำเลย จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งต่าง ๆแม้แต่การเลิกจ้างโจทก์ก็เป็นไปตามความเห็นชอบของจำเลย จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยตั้งคณะกรรมการอำนวยการโรงงานขึ้นก็เพื่อให้คณะกรรมการรับมอบหน้าที่ไปทำในนามของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับโจทก์
การที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่อาจนำข้อกล่าวหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและขอให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง โจทก์มาฟ้องยังศาลแรงงานนั้น เป็นการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามสิทธิในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มิได้รวมไปถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินเดือนและบำเหน็จซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ได้ตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมีนิติสัมพันธ์อยู่กับโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม โจทก์ถูกให้ออกจากการเป็นพนักงานตามคำสั่งที่ 179/2519 โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอความเป็นธรรมต่อจำเลยหลายครั้งเพราะเหตุที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและถูกกลั่นแกล้ง ต่อมาจำเลยได้ออกคำสั่งยุบเลิกโรงงานกระสอบป่าน จำเลยไม่ยอมยกเลิกคำสั่งที่ให้โจทก์ออกจากงานและไม่ยอมจ่ายเงินเดือนที่ค้างเงินบำเหน็จ และเงินชดเชย รวมทั้งสิ้น 381,182 บาท ขอให้จำเลยสั่งยกเลิกคำสั่งโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ 179/2519 ให้จำเลยชำระเงิน 381,182 บาทแก่โจทก์ และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์เป็นพนักงานของโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 2 มีคณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้บริหาร การที่ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์นั้นได้มีการตั้งกรรมการทำการสอบสวนกรณีที่โจทก์ต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ผู้อำนวยการจึงมีคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์ฐานประพฤติตนไม่เหมาะสมและมีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริต อาศัยอำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่นให้ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน กับเงินบำเหน็จตามระเบียบของโรงงาน โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งเห็นชอบจึงให้งดการพิจารณาคำร้องเรียนของโจทก์ โรงงานกระสอบป่านจึงมีคำสั่งที่ 179/2519 ให้เลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 112,530 บาท เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน21,780 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งเลิกจ้างถึงที่สุดไม่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด คำสั่งเลิกจ้างได้เกิดขึ้นก่อนมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้บังคับบัญชา โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนที่ค้างเป็นเงิน 34,485 บาท เงินบำเหน็จเป็นเงิน 112,530 บาทเงินชดเชยเป็นเงิน 21,780 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน168,795 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาล ศาลจึงไม่มีอำนาจพิพากษาไปถึงประเด็นอื่นด้วย

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นการให้สิทธิหรือคุ้มครองลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่การใช้สิทธิดังกล่าวในทางศาลเกิดขึ้นในวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 คดีนี้จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2519 สิทธิหรือการได้รับความคุ้มครองย่อมมีอยู่ตาม มาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้างอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด แม้ว่าคดีนี้โจทก์จะขอให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง มิได้ขอให้รับโจทก์เข้าทำงานต่อไปก็ตาม ก็อยู่ในความหมายของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ เช่นกัน โจทก์จึงไม่อาจนำข้อกล่าวหาดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลแรงงานได้ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวนั้นจึงชอบแล้ว

โรงงานกระสอบป่านเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปในกิจการของโรงงานกระสอบป่าน มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนประธานกรรมการอำนวยการ รองประธานกรรมการอำนวยการ กรรมการอำนวยการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคณะหรือรายบุคคล คณะกรรมการอำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อจำเลย จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งต่าง ๆ แม้แต่การเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ 179/2519 ก็เป็นไปตามความเห็นชอบของจำเลย จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นก็เพื่อให้คณะกรรมการรับมอบหน้าที่ไปทำในนามของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับโจทก์

การที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่อาจนำข้อกล่าวหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและขอให้ยกเลิกคำสั่งมาฟ้องยังศาลแรงงานนั้น เป็นการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามสิทธิในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้รวมไปถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินเดือนและเงินบำเหน็จซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ได้ตามมาตรา 8(1)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมีนิติสัมพันธ์อยู่กับโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ดังกล่าวแล้ว

จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฉบับแรกที่ 212/2518 ลงวันที่ 11 เมษายน 2518 โจทก์จึงต้องหยุดทำงาน ไม่อาจทำงานต่อไปได้ ต่อมามีคำสั่งที่ 179/2519 ยกเลิกคำสั่งที่ 212/2518 โดยมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2519 ฉะนั้นระหว่างจำเลยออกคำสั่งฉบับแรก ถึงวันที่ 26 มกราคม 2519 โจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านับแต่วันที่ 11 เมษายน 2518 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2519 โจทก์ยังไม่ได้รับเงินเดือนโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนที่ยังไม่ได้รับในระหว่างที่โจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share