คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3060/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ โดยระบุเรือนอันเป็นสินสมรสไว้ท้ายสัญญาประกันเพื่อเป็นการแสดงหลักทรัพย์หาใช่เป็นนิติกรรมในการจัดการสินสมรสซึ่งสามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476 ไม่สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์และผูกพันจำเลยโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา ส่วนจะเป็นผลทำให้มีการยึดเรือนนั้นเมื่อมีการผิดสัญญาประกันก็เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขอประกันตัวนายสันติผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของโจทก์ โดยจำเลยสัญญากับโจทก์ว่าจะนำตัวผู้ต้องหามามอบให้แก่โจทก์ตามนัดจำเลยได้นำหลักทรัพย์บ้านของจำเลยเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 3 ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีมาเป็นหลักประกัน จำเลยผิดสัญญาไม่สามารถนำตัวนายสันติผู้ต้องหามาส่งในกำหนด ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าปรับ 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า บ้านเลขที่ 36/1 เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและภริยาจำเลยจำเลยทำสัญญาประกันโดยภริยาจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม เมื่อภริยาจำเลยทราบว่า จำเลยไปประกันตัวนายสันติ ภริยาจำเลยจึงมีหนังสือบอกล้าง สัญญาประกันตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานอัยการโดยระบุเรือนอันเป็นสินสมรสไว้ท้ายสัญญาประกันเพื่อเป็นการแสดงหลักทรัพย์หาใช่เป็นนิติกรรมในการจัดการสินสมรสซึ่งสามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 ไม่ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์และผูกพันจำเลยโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากภริยา การที่จำเลยระบุเรือนอันเป็นสินสมรสไว้ท้ายสัญญาประกัน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้มีการยึดเรือนนั้น เมื่อมีการผิดสัญญาประกันก็เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นข้อที่นำสืบโต้เถียงกันว่าภริยาจำเลยให้ความยินยอมหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share