คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3059/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การได้ภารจำยอมโดยอายุความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลมกล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382ซึ่งกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นสำคัญโดยไม่ได้คำนึงว่าภารยทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดหรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ตัวว่าใครเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น
โจทก์ใช้ประโยชน์ในทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยรวมไปกับทางสาธารณะกว้าง 2 เมตร โดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะทั้งหมดต้องถือว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทในลักษณะจะให้ได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวแล้วเมื่อใช้ติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยโจทก์จึงได้ภารจำยอมในทางพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2539 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10574 และ 10575 อันเป็นภารยทรัพย์ได้ปักหลักเขตด้วยเสาคอนกรีตตามแนวที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกติดกับทางสาธารณประโยชน์ตลอดแนวโดยปิดกั้นในที่ดินส่วนที่เป็นทางภารจำยอมซึ่งมีความกว้าง 2 เมตร ทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ไม่สามารถใช้ทางภารจำยอมได้อีก ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10574 และ 10575 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกตลอดแนวทางด้านทิศตะวันตกมีความกว้าง 2 เมตร เป็นทางภารจำยอม กับให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก หากไม่ไปก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตเปิดเป็นทางภารจำยอม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมต่อไป

จำเลยให้การว่า ที่ดินของจำเลยไม่เป็นทางภารจำยอมเพราะโจทก์ทั้งห้ามีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ไม่เคยเข้ามาใช้ทางที่อ้าง ทั้งโจทก์ทั้งห้าใช้มาไม่ถึงสิบปีและเป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 10574และ 10575 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตลอดแนวทางด้านทิศตะวันตก กว้าง 2 เมตร ตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ที่ 1 ด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่ 1 เอง หากจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากทางภารจำยอม และห้ามจำเลยขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของที่ดินของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วโดยเข้าใจว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะนั้น จะมีผลทำให้โจทก์ที่ 1ได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยโดยอายุความหรือไม่ เห็นว่า การได้ภารจำยอมโดยอายุความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลมกล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงว่าภารยทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดหรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ตัวว่าใครเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น ดังนั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะใช้ประโยชน์ในทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยรวมไปกับทางสาธารณะกว้าง 2 เมตร โดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะทั้งหมดก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทในลักษณะจะให้ได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยแล้วเช่นนี้ โจทก์ที่ 1 จึงได้ภารจำยอมในทางพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share