แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประสบภาวะการขาดทุนจึงเลิกจ้างโจทก์กับพวกซึ่งมีหน้าที่เป็นยาม โดยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเจาะจงเลิกจ้างเฉพาะโจทก์กับพวก แม้จำเลยจะมิได้ยุบเลิกกิจการยามเสียทั้งแผนก ก็จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
เมื่อจำเลยส่งสำเนาเอกสารต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเหล่านั้นประการใด ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้วศาลรับฟังเอกสารนั้นได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจ่ายสินจ้างทุกวันสิ้นเดือน ซึ่งจำเลยก็ให้การดังโจทก์ฟ้อง การที่ศาลแรงงาน ฯ ฟังข้อเท็จจริงว่ากำหนดจ่ายสินจ้างทุกวันที่ 15 และทุกวันก่อนวันสิ้นเดือน จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็น หาชอบไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เว้นแต่โจทก์ที่ ๑๑ ในสำนวนแรก จ่ายทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน ส่วนโจทก์ที่ ๒๔ และที่ ๒๕ ในสำนวนหลังจ่ายทุกวันที่ ๑๕ และก่อนวันสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนโดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๙ ทำให้โจทก์ทั้งสองสำนวนได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนกาารบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนเพราะจำเลยประสบภาวะการขาดทุน จำเป็นต้องลดจำนวนยามรักษาความปลอดภัยลงเพื่อให้สามารถดำรงสถานะและให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปได้ ซึ่งได้แจ้งสาเหตุแห่งการจะเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้วโดยปิดประกาศให้ทราบ จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบแล้ว การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนเพราะประสบภาวะการขาดทุนน มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ในสำนวนแรกได้ลงลายมือชื่อในบันทึกหมาย ล.๑ และ ล.๖ ว่าจะไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีก โจทก์สำนวนแรกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนกรณีโจทก์สำนวนหลัง ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละสองครั้งคือทุกวันที่ ๑๕ และก่อนวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ซึ่งเป็นวันจ่ายสินจ้าง เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างที่ไม่ชอบ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๗ มิใช่ถึงวันที่๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๓ ในสำนวนหลังคนละ ๑,๐๕๖ บาทแก่โจทก์ที่ ๒๔ ที่ ๒๕ ในสำนวนหลังคนละ ๑,๗๖๐ บาท คำขออื่นของโจทก์ในสำนวนหลังนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนยอมรับในอุทธรณ์ว่า จำเลยประสบภาวะการขาดทุนจริงและคดีได้ความต่อไปว่า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนแล้ว คงมียามทำหน้าที่ในปัจจุบันเพียง๕-๖ คนเท่านั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนโดยมีเหตุอันสมควรแล้ว ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง และมิได้เจาะจงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวน การที่จำเลยยังคงดำเนินกิจการต่อไป และมิได้ยุบเลิกกิจการยามรักษาความปลอดภัยเสียทั้งแผนก จะถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองสำนวนโดยไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
โจทก์ในสำนวนแรกมิได้โต้เถียงว่าตนมิได้ทำบันทึกหมาย ล.๑ และ ล.๖ให้จำเลย เมื่อจำเลยส่งเอกสารเหล่านั้นต่อศาล โจทก์ในสำนวนแรกมิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเหล่านั้นประการใด โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ทุกคนในสำนวนแรกยอมรับว่าลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.๑ เป็นของตนเมื่อความจะถูกต้องหรือไม่มิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าโจทก์ที่ ๑ ยอมรับว่าสำเนาเอกสารหมาย ล.๑ ถูกต้องแล้ว ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารหมาย ล.๑ ได้สำหรับเอกสารหมาย ล.๖ โจทก์ที่ ๑ มิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงอีกเช่นกัน ศาลจึงรับฟังเอกสารนั้นได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังสำเนาเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๖ หาเป็นการคลาดเคลื่อนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ ไม่
โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๓ บรรยายฟ้องว่าจำเลยจ่ายสินจ้างทุกวันสิ้นเดือนและกำหนดจ่ายสินจ้างนี้จำเลยหาได้ต่อสู้เป็นอย่างอื่นไม่ กลับยอมรับว่า”โดยจ่ายค่าจ้างในวันที่ ๓๐ ของทุกเดือน” เมื่อเช่นนี้ กำหนดจ่ายสินจ้างเมื่อใดจึงไม่เป็นประเด็น ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า กำหนดจ่ายสินจ้างทุกวันที่ ๑๕ และทุกวันก่อนวันสิ้นเดือน จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นหา ชอบด้วยคำฟ้องและคำให้การไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๓ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ จึงควรได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถึงวันที่๓๑ มกราคม ๒๕๒๗ เป็นเวลา ๓๒ วัน สมควรกำหนดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเสียให้ถูกต้องโดยถือเอาค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละ ๑,๙๘๐ บาทเป็นเกณฑ์คำนวนซึ่งจะได้คนละ ๒,๑๑๒ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๓ ในสำนวนหลังคนละ ๒,๑๑๒ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง