คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการคำนวณรายได้ของนิติบุคคลเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี2515ถึง2517หรือก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมป.รัษฎากรในปี2527นั้นต้องใช้เกณฑ์เงินสดไม่ใช่เกณฑ์สิทธิ์ทั้งนี้เพราะป.รัษฎากรมาตรา65กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีและเงินได้พึงประเมินนั้นมาตรา39ให้หมายถึงเงินทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับมาแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีมิใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นในรอบระยะเวลาบัญชีฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเอาค่าเช่าที่โจทก์ยังไม่ได้รับมาคำนวณเป็นรายได้ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้จึงเป็นการมิชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการมีรายได้คือค่าเช่าบ้านกับเงินปันผลโจทก์ดำเนินกิจการและปฏิบัติการลงบัญชีตามระบบเงินสดต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะบัญชี 2515-2517 ว่า โจทก์ยื่นแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปและมีรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรอีกเมื่อทำการปรับปรุงกับกำไรสุทธิประจำปีแต่ละปีแล้ว โจทก์ต้องเสียภาษีกับเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า การประเมินที่อ้างว่า โจทก์มียอดรายรับขาดไปนั้น เป็นเงินค่าเช่าและปันผลที่ยังไม่ได้รับแม้จะถึงกำหนดเวลาชำระแล้วก็ตาม โจทก์ยังไม่ได้นำมาลงบัญชีรายได้การที่เจ้าพนักงานบังคับให้โจทก์ต้องทำบัญชีตามแบบเกณฑ์สิทธิ์และให้นำเงินค่าเช่าและเงินปันผลซึ่งถึงกำหนดชำระแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับมารวมเป็นรายได้ของโจทก์ เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องเพราะประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติบังคับต้องทำบัญชีตามระบบใดและรายจ่ายไม่ต้องห้าม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีลดลง การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเอาค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นรายได้ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้ดำเนินกิจการและปฏิบัติการลงบัญชีตามระบบบัญชีเกณฑ์เงินสดแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่โจทก์ได้ลงบัญชีตามระบบแบบบัญชีเกณฑ์สิทธิ์รวมอยู่ด้วย เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องในการจัดทำบัญชีต้องเป็นระบบเดียวกัน การจัดทำบัญชีของโจทก์ต้องเป็นไปตามระเบียบเกณฑ์สิทธิ์การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าอาคารและที่ดิน ในปี 2515 ถึง 2517 โจทก์มีสิทธิได้ค่าเช่าซึ่งยังเรียกเก็บไม่ได้ โจทก์จึงมิได้นำค่าเช่าดังกล่าวไปลงบัญชีเป็นรายรับเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์ใช้ระบบบัญชีแบบเกณฑ์สิทธิค่าเช่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับแล้วแม้จะยังไม่ได้รับ ก็ถือได้ว่าเป็นรายรับซึ่งจะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงได้นำค่าเช่าดังกล่าวมาประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์สำหรับปี 2515, 2516 และ 2517โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เป็นกรรมการ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เชื่อว่ารายจ่ายค่าบำเหน็จกรรมการเป็นรายจ่ายที่มีการจ่ายจริง จึงยอมให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และลดเงินเพิ่มลง คงเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์สำหรับปี 2515 ถึง 2517 เพียง 742,037 บาท 01 สตางค์ โจทก์โต้แย้งว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะโจทก์ใช้ระบบบัญชีเกณฑ์เงินสด ซึ่งถือว่ามีรายได้เมื่อได้รับจริง และเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดว่าให้ใช้ระบบบัญชีเกณฑ์ใดโจทก์จึงเลือกใช้เกณฑ์เงินสดได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าเช่าที่โจทก์เพียงแต่มีสิทธิได้รับยังไม่ได้รับจริงจะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีตามปัญหาที่ต้องวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในปี 2527 เป็นปัญหาซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 580/2506บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 793/2523 นายจำรูญ สิงหกฤติพิศาล โจทก์บริษัทสีลมก่อสร้าง จำกัด จำเลย กรมสรรพากร ผู้ขอรับชำระหนี้ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี และเงินได้พึงประเมินนั้นมาตรา 39 ให้หมายถึงเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับมาแล้วในรอบระยะเวลาบัญชี มิใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นในรอบระยะเวลาบัญชีหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการคำนวณรายได้ของโจทก์จะต้องใช้เกณฑ์เงินสดมิใช่ใช้เกณฑ์สิทธิ์ดังที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรใหม่ในปี 2527 ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเอาค่าเช่าที่โจทก์ยังไม่ได้รับมาคำนวณเป็นรายได้ให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้จึงเป็นการมิชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลนี้ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share