แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนับเวลาได้มีประกาศนับเวลาในราชการ พ.ศ.2460 ให้เริ่มนับวันใหม่ตั้งแต่เที่ยงคืน และกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 6 ข้อ 23 บัญญัติว่า วันหนึ่งหมายความว่าระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง เมื่อตั้งต้นนับวันใหม่ตั้งแต่เที่ยงคืนวันหนึ่งจึงมีเวลากลางคืน 2 ตอน คือตอนต้นนับวันใหม่ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนไปจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เป็นเวลากลางคืนตอนหนึ่ง กับอีกตอนหนึ่งระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปสุดสิ้นถึงเวลาเที่ยงคืน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ 20 กันยายน 2489เวลากลางคืนทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำผิดในวันที่ 21 กันยายน 2489 เวลา 4.00 นาฬิกา ดังนี้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ต้องยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2489เวลากลางคืน จำเลยปฏิเสธ ทางพิจารณา พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยกระทำผิด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2489 เวลา 4.00 นาฬิกาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามธรรมดาเวลากลางวันหมายความว่าเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกเวลากลางคืนหมายถึงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกของวันใด ค่ำนั้นก็เป็นเวลากลางคืนของคืนนั้นตลอดคืน ด้วยว่าเวลากลางคืนย่อมตามหลังเวลากลางวัน ต่อมาได้มีประกาศนับเวลาในราชการ พ.ศ. 2460 ให้เริ่มนับวันใหม่ตั้งแต่เที่ยงคืนกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 6 ข้อ 23 บัญญัติว่า วันหนึ่งหมายความว่าระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ฉะนั้นเมื่อตั้งต้นเริ่มนับวันใหม่ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน วันหนึ่งจึงมีเวลากลางคืน 2 ตอน คือ ระหว่างเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลากลางคืนของวันใหม่กับอีกตอนหนึ่งระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปสุดสิ้นถึงเวลาเที่ยงคืน กฎหมายบัญญัติให้นับดังนี้ การเข้าใจถึงเรื่องคืนของวันใดจึงคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดา เวลากลางคืนตอนหลังตกไปเป็นวันใหม่ เมื่อเป็นดังนี้จะเรียกคืนของวันเก่าตามกฎหมายในเวลานี้ไม่ได้ เพราะวันเปลี่ยนไปแล้ว
พิพากษายืน