คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3048/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณะไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยการให้ผู้อุทิศอาจทำหลักฐานเป็นหนังสืออุทิศที่ดินหรืออุทิศโดยปริยายก็มีผลทำให้ที่ดินที่อุทิศตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วหาจำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้ให้คำอธิบายคำว่า “อาคาร” หมายความว่าตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพคลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงรั้ว ฯลฯ ดังนั้นรั้วเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น จึงเป็นอาคารตามความหมายแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการเขตพระโขนง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7000โจทก์ได้รับหนังสือจากจำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่สาธารณะและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้โจทก์ทำการรื้อถอนภายใน 30 วัน และให้โจทก์ระงับการก่อสร้างซึ่งความจริงรั้วกำแพงคอนกรีตบล็อกของโจทก์นั้นมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ทั้งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522ข้อ 67, 70 และ 72 ระบุเรื่องการห้ามเฉพาะก่อสร้างอาคารติดที่สาธารณะเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงรั้วแต่อย่างใด โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยและแจ้งมายังโจทก์ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เสีย
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและไม่ฎีกาโต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7000 แขวงคลองตัน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร เดิมที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของพันเอกเที่ยง เมื่อกลางปี 2524 โจทก์กับนายประทัยสามีได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตลงบนที่ดินของโจทก์ตามแนวเขตทั้งสี่ด้านต่อมาเมื่อปี 2528 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงนายประทัยสามีโจทก์ให้รื้อถอนรั้วคอนกรีตด้านทิศเหนือโดยอ้างว่าก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโจทก์โดยนายประทัยได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์ก่อสร้างรั้วติดทางสาธารณะ โดยมิได้ร่นแนวรั้วให้ห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรคแรก และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ 2 ข้อคือ พันเอกเที่ยงได้อุทิศที่ดินซึ่งอยู่ติดกับรั้วด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ให้เป็นทางสาธารณะหรือไม่ และรั้วที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นอาคารตามความหมายของพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่ ตามปัญหาข้อแรกโจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.13 ซึ่งเป็นหนังสือที่พันเอกเที่ยงอุทิศที่ดินนั้นเป็นเพียงสำเนาเอกสาร จำเลยทั้งสิบเอ็ด มิได้นำพันเอกเที่ยงมาเบิกความรับรองสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ที่ทางราชการทำขึ้นในกรณีที่มีผู้อุทิศที่ดินให้แก่ทางราชการ ซึ่งสำเนาเอกสารฉบับนี้ได้ถ่ายจากต้นฉบับโดยมีนายอนันต์ โนรีวงศ์ หัวหน้างานสำรวจและแผนที่กองรังวัดที่ดินและที่สาธารณะรับรองสำเนาภาพถ่ายถูกต้องและสำเนาฉบับที่จำเลยส่งท้ายคำให้การหมายเลข 1 ก็มีนายสุธิบูรณ์ บูรณเวชหัวหน้างานโยธา เขตพระโขนง รับรองความถูกต้องจึงถือได้ว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของทางราชการเมื่อหัวหน้าแผนกได้รับรองถูกต้องแล้ว ก็เป็นการเพียงพอที่จะนำมาแสดงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าการอุทิศที่ดินเพื่อเป็นทางสาธารณะเป็นการให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นเห็นว่า การอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณะหาตกอยู่ในบังคับว่าด้วยการให้ไม่อุทิศอาจทำหลักฐานเป็นหนังสืออุทิศที่ดินหรืออุทิศโดยปริยาย ก็มีผลทำให้ที่ดินที่อุทิศตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว หาจำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ทั้งปรากฏจากการเผชิญสืบของศาลชั้นต้นว่า มีทางที่พันเอกเที่ยงอุทิศยาวตลอดออกไปทางทิศตะวันตกจนถึงซอยสวัสดี ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพันเอกเที่ยงได้อุทิศที่ดินซึ่งอยู่ติดกับรั้วโจทก์ด้านทิศเหนือให้เป็นทางสาธารณะจึงชอบแล้ว โจทก์ฎีกาอีกว่าทางที่พันเอกเที่ยงอุทิศมิใช่ทางสาธารณะเพราะไม่มีผู้ใดใช้สัญจรไปมานั้นได้ความจากพลตรีจำนงค์ รอดเจริญ พยานจำเลยว่าเคยใช้ทางดังกล่าวเข้าออกสู่ที่ดินของตน ดังนั้น แม้ทางนี้จะเป็นทางต้นก็ตามเมื่อปรากฏว่าเป็นทางที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีสิทธิใช้เป็นทางคมนาคมได้ก็ถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่ทะลุตลอดและมีคนใช้สัญจรไปมาดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาข้อต่อไปของโจทก์มีว่ารั้วที่โจทก์ก่อสร้างเป็นอาคารตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4ได้ให้คำอธิบายคำว่า “อาคาร” หมายความว่าตึก บ้าน เรือน โรง ร้านแพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงรั้ว ฯลฯ ดังนั้นรั้วเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น จึงเป็นอาคารตามความหมายแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ก่อสร้างรั้วริมทางสาธารณะที่มีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร โดยไม่ร่นแนวรั้วห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 72 วรรคแรก จึงชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share