คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์โดยมีข้อตกลงกันไม่ให้โจทก์แข่งขันประมูลงานก่อสร้างของทางราชการกับจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หนี้ตามเช็คที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงเช่นนั้นเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเช็คฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ เนื่องจากมีข้อตกลงไม่แข่งขันกันในการประมูลงานก่อสร้างของทางราชการและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์จะฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มาด้วย ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คตามฟ้องโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามฎีกาแต่คดีที่ฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เนื่องจากมีข้อตกลงไม่แข่งขันกันในการประมูลงานก่อสร้างของทางราชการการกระทำของโจทก์จำเลยย่อมเป็นการลวงให้ทางราชการหลงเชื่อว่ามีการประมูลสู้ราคากันจริง แต่ความจริงเป็นเรื่องตกลงสมยอมกันโดยจำเลยจะจ่ายเงินตอบแทนให้แก่โจทก์และบุคคลอื่นผู้ร่วมประมูลเป็นการร่วมกันเอารัดเอาเปรียบทางราชการโดยไม่สุจริตทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หนี้ตามเช็คที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงอันมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นนี้ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คตามฟ้องโดยชอบ ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทั้งสองสำนวน”
พิพากษายืน

Share