แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่บิดาของจำเลยได้กระทำไว้ก่อนถึงแก่กรรมจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของเจ้ามรดกมิใช่เป็นกองมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทตามป.พ.พ.มาตรา1600จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์หากจำเลยได้รับมรดกก็รับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับตามป.พ.พ.มาตรา1601โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับถึงทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดกจึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา82.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลายไม่ได้ไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวที่เป็นทายาทของ ดร.สุจิตด้วย จำเลยทั้งสองต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่อันเจ้ามรดกมีอยู่ต่อบุคคลภายนอก ตามกฎหมายลักษณะมรดกย่อมต้องรับผิดในหนี้ของเจ้ามรดกเป็นส่วนตัวจึงมีหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด อันเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสอง เป็นหนี้ซึ่งก่อนถึงแก่กรรมเจ้ามรดกได้กระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทนาคาไข่มุก จำกัด และในฐานะส่วนตัวเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการบริษัทดังกล่าวและในฐานะส่วนตัวที่เป็นผู้จัดการมรดกและทายาท จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทนั้นและในฐานะทายาทได้ร่วมกับนายทินกร หิรัญพฤกษ์ทายาทอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และชำระเงินให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 5, 6 และ 7 คงเหลือหนี้สินที่ค้างชำระตามฟ้องเช่นนี้ ปัญหาในชั้นนี้มีว่า โจทก์จะนำหนี้สินตามฟ้องมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่าหนี้สินตามฟ้องเจ้ามรดกกระทำขึ้น 2 ฐานะ คือในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทนาคาไข่มุก จำกัด อย่างหนึ่ง และในฐานะส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งหนี้สินประเภทแรกบริษัทดังกล่าวจะต้องเป็นฝ่ายรับผิด เจ้ามรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คงรับผิดเฉพาะหนี้สินประเภทหลัง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทนาคาไข่มุก จำกัด ยอมรับสภาพหนี้ของบริษัทดังกล่าวต่อโจทก์ หากจะมีผลผูกพันจากการรับสภาพหนี้นั้นบริษัทนาคาไข่มุก จำกัดเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้รับผิดในหนี้สินเหล่านั้นเช่นกัน ส่วนที่จำเลยทั้งสองรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดกในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทนั้น ไม่ว่าโดยการทำหนังสือหรือชำระเงินให้บางส่วน ก็ถือได้แต่เพียงเป็นการยอมรับว่าเจ้ามรดกเป็นหนี้ตามที่โจทก์ทวงถาม ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยทั้งสองยอมตนเข้าผูกพันเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะการแปลงหนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยทั้งสองย่อมมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์ ถึงหากจำเลยทั้งสองจะมีสิทธิได้รับมรดก ก็คงรับผิดเจ้าหนี้กองมรดกไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601เจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับถึงทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่มิใช่ทรัพย์มรดกได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเป็นส่วนตัวไม่ได้ นอกจากนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มีความประสงค์จะให้ได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่เจ้ามรดกเป็นหนี้ตนอยู่ เมื่อหนี้ตามฟ้องเจ้ามรดกเป็นผู้ก่อขึ้น หากเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ก็อาจถูกฟ้องให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายได้ ดังนั้นเจ้ามรดกย่อมมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์ หนี้สินตามฟ้องจึงเป็นหน้าที่และความผิดโดยเฉพาะของเจ้ามรดก มิใช่เป็นกองมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 แต่อย่างใด โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองโดยตรงไม่ได้เช่นกันชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 82…”
พิพากษายืน.