คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องไปทำการร้องขอต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ ให้ออกใบสำคัญประจำตัวให้เพื่อแสดงว่าตนเป็นบุคคลต่างด้าว มิใช่เป็นคนสัญชาติไทยภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ซึ่งเสียสัญชาติไทยเพิกเฉยหรือละเลย มิฉะนั้นจะมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน หาใช่เป็นการกำหนดเรื่องอายุความเสียสิทธิอันจะทำให้โจทก์หมดสิทธิหรือเสียสิทธิที่จะขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
จำเลยรับคำร้องขอพร้อมทั้งบันทึกถ้อยคำของโจทก์ไว้ เมื่อถึงเวลาที่จำเลยนัดให้โจทก์มาฟังผล จำเลยก็ไม่ได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ จนล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยนัดให้โจทก์มาฟังผลนานถึง 3 ปี จำเลยก็ยังมิได้จัดการออกใบสำคัญดังกล่าวให้โจทก์ แม้จำเลยอ้างว่าได้ส่งเรื่องให้ผู้อื่นดำเนินการตามระเบียบของกรมตำรวจ ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยซึ่งไม่ใช่กฎหมาย จะยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุขัดข้องหรือต่อสู้ยันกับโจทก์หาได้ไม่ และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493ประกาศ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2493 ข้อ 3 ระบุว่า ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ผู้บังคับกองตำรวจภูธรอำเภอหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเป็นนายทะเบียนตามประกาศดังกล่าว จำเลยจึงมีอำนาจโดยตรงอยู่แล้วที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

Share