แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งส่วนที่ดินของตนที่มีอยู่ในที่ดินออกจากกัน จำนวน 3 แปลง แบ่งที่ดินทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก แปลงที่ 1 เป็นของจำเลยที่ 2 แปลงที่ 2 ถัดจากแปลงที่ 1 มาทางทิศใต้ เป็นของโจทก์ แปลงที่ 3 เป็นของจำเลยที่ 1 แปลงคงเหลือเป็นของจำเลยที่ 3 ส่วนเนื้อที่จะแจ้งในวันไปรังวัดและยังมีเอกสารซึ่งเป็นรูปจำลองแผนที่ มีรอยขีดเส้นแบ่งที่ดินออกเป็น4 ส่วน เขียนชื่อโจทก์ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อจำเลยที่ 3 ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามลงชื่อรับรองเอกสารและรูปแผนที่ดังกล่าวไว้ด้วย เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทการกำหนดลงไปในเอกสารทั้งสองฉบับว่า ผู้ใดได้ที่ดินส่วนใดย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปเพราะเป็นการตกลงเพื่อให้เป็นที่แน่นอนไม่โต้เถียงแย่งกันเอาที่ดินส่วนนั้นส่วนนี้ ทั้งตามข้อตกลงก็ระบุว่าจะนำช่างรังวัดทำการปักหลักเขตแสดงว่ามีการตกลงกันแน่นอนแล้วมิฉะนั้นก็ย่อมจะนำช่างรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกมิได้และหลังจากรังวัดแล้วจึงจะรู้เนื้อที่ของแต่ละคนเป็นที่แน่นอนเอกสารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ฟ้องแย้งเป็นเรื่องจำเลยขอให้บังคับโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยด้วยกันมิได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 178.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๓๘๕ โดยมิได้ระบุว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด ครอบครองที่ดินส่วนไหน แต่จำเลยทั้งสามได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเป็นสัดส่วนอยู่แล้ว ส่วนที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ว่าง โจทก์ประสงค์จะปลูกบ้านในที่ดินที่ว่างนี้จำเลยที่ ๓ ขัดขวางและให้คนมาทำรั้วทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ดินแปลงนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็น ๔ ส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้โจทก์และจำเลยทุกคนออกค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกเท่า ๆ กัน และให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ผู้เดียวหนึ่งในสี่ส่วน ถ้าจำเลยไม่ไปขอรังวัด แบ่งแยกที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินตามฟ้อง จำเลยทั้งสามได้แบ่งกันครอบครองเป็นส่วนสัดตรงตามฟ้องมาโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็น เจ้าของมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว และใช้ทางเดินผ่านเข้าออกภายในที่ดินส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นที่ว่าง และของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ไม่ขัดข้องในการแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ได้หนึ่งในสี่ส่วนภายในเส้นสีแดงตามแผนที่ท้ายฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนายอัมพร-สามี ในที่ดินพิพาทไม่มีรั้วกั้นเป็นส่วนสัดระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งสี่ โจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นหนังสือต่อหน้าพยานและเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นของจำเลยที่ ๑ ที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นของจำเลยที่ ๒ ที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นของโจทก์และที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นของจำเลยที่ ๓ ส่วนบ้านเลขที่ ๔๗ ตกลงกันให้เป็นของโจทก์ เจ้าพนักงานได้ไปรังวัดที่ดินตามที่ตกลงกันและได้ตกลงเพิ่มเติมแบ่งที่ดินเป็นทางเดินออกจากที่ดินของจำเลยที่ ๒ และของโจทก์ไปสู่ซอยเศรษฐบุตร ได้มีการปักหมุดหลักเขตไว้แล้วและยังไม่มีการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว จึงฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์บังคับให้โจทก์จำเลยทุกคนแบ่งแยกที่ดินแก่จำเลยที่ ๓ หนึ่งในสี่ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ให้โจทก์ได้ที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามแผนที่รังวัดของเจ้าพนักงานที่ได้รังวัดเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๕ หากฝ่ายใดไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาท เอกสารท้ายฟ้องแย้งเป็นเอกสารปลอม โดยให้โจทก์ลงชื่อแล้วจำเลยกับพวกไปกรอกข้อความเอาเอง ลายมือชื่อโจทก์ในแผนที่จำลอง เป็นลายมือชื่อปลอม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยให้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๓๘๕ ตำบลพระโขนง (ที่ ๑๑ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ฉบับลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๕ ส่วนจำนวนเนื้อที่ดินนั้นให้โจทก์และจำเลยแต่ละคนได้รับส่วนเท่า ๆ กัน หากโจทก์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ให้โจทก์ออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดหนึ่งในสี่ ถ้าไม่ออกให้จำเลยที่ ๒ หรือจำเลยที่ ๓ ออกแทนไปแล้วให้บังคับชำระหนี้ตามจำนวนที่ออกไปพร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของนางเล็ก เล็กเจริญสุข ยกให้บุตรชาย ๔ คนคือจำเลยที่ ๓ ที่ ๒ นายอัมพรและนายสมจิตร ต่อมานายสมจิตรยกกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรและโจทก์รับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนายอัมพรสามีซึ่งถึงแก่กรรม ในที่พิพาทมีบ้านปลูกอยู่ ๔ หลัง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้นเลขบ้านที่ ๔๗/๑ เป็นของนายสมจิตร บิดาจำเลยที่ ๑ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเรือนไม้ ๒ ชั้นของจำเลยที่ ๒ หนึ่งหลังไม่มีเลขบ้านและตึกชั้นเดียว ๑ หลังของนางศิริภริยาคนที่ ๒ ของจำเลยที่ ๒ เลขบ้านที่ ๔๗/๒ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีเรือนไม้ ๒ ชั้นพร้อมทั้งเรือนไม้ชั้นเดียวอีก ๑ หลังเลขบ้านที่ ๔๗ มีชื่อจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าบ้านแต่จำเลยที่ ๓ เป็นคนปลูก ที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ว่างอยู่ติดซอยเศรษฐบุตรภายในที่พิพาทไม่มีการกั้นรั้วเป็นส่วนสัดคงมีแต่ถนนผ่านกลางที่ดินเพื่อเข้าไปยังที่ดินด้านใน ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่ได้เจรจาเพื่อตกลงแบ่งที่พิพาทกันหลายครั้งในที่สุดได้พร้อมกันไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโดยทำบันทึกแบ่งกรรมสิทธิ์รวมลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๕ ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วยกันทั้งในบันทึกและรูปแผนที่จำลอง เจ้าพนักงานได้มารังวัดแบ่งแยกที่ดินในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๕ โจทก์กับนางดรุณีมารดาจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกถ้อยคำและใบรับรองเขตที่ดิน การรังวัดแบ่งแยกที่ดินจึงไม่สำเร็จ หลังจากวันรังวัดที่ดิน ๔-๕ วัน โจทก์ก็ปลูกบ้านลงในที่ว่างด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้โดยมิได้ขออนุญาตต่อทางการแล้ววินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๑๘ ล.๓๔ มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกแบ่งกรรมสิทธิ์รวม มีข้อความว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งส่วนที่ดินของตนที่มีอยู่ในที่ดินออกจากกันจำนวน ๓ แปลง แบ่งที่ดินทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกแปลงที่ ๑ เป็นของจำเลยที่ ๒ แปลงที่ ๒ ถัดจากแปลงที่ ๑ มาทางทิศใต้เป็นของโจทก์ แปลงที่ ๓ เป็นของจำเลยที่ ๑ แปลงคงเหลือเป็นของจำเลยที่ ๓ ส่วนเนื้อที่จะแจ้งในวันไปรังวัด และทุกคนจะนำช่างรังวัดทำการปักหลักเขตให้เป็นการแน่นอนต่อไป และยังมีเอกสารหมาย ล.๑๙ ล.๓๖ ซึ่งมีรูปจำลองแผนที่ มีรอยขีดเส้นแบ่งที่ดินออกเป็น ๔ ส่วนเขียนชื่อโจทก์ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ชื่อจำเลยที่ ๓ ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามลงชื่อรับรองเอกสารและรูปแผนที่ดังกล่าวไว้ด้วย เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาท การกำหนดลงไปในเอกสารทั้งสองฉบับว่าผู้ใดได้ที่ดินส่วนใดย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปเพราะเป็นการตกลงเพื่อให้เป็นที่แน่นอนไม่โต้เถียงแย่งกันเอาที่ดินส่วนนั้นส่วนนี้ทั้งตามข้อตกลงก็ระบุว่าจะนำช่างรังวัดทำการปักหลักเขต แสดงว่ามีการตกลงกันแน่นอนแล้วมิฉะนั้นก็ย่อมจะนำช่างรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกมิได้ และหลังจากรังวัดแล้วจึงจะรู้เนื้อที่ของแต่ละคนเป็นที่แน่นอน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้มีผลบังคับถึงจำเลยที่ ๑ ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะฟ้องแย้งเป็นเรื่องจำเลยขอให้บังคับโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยด้วยกันมิได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสามและมาตรา ๑๗๘
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๘๓๘๕ ตำบลพระโขนง (ที่ ๑๑ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานครออกเป็น ๔ ส่วนเท่า ๆ กัน ให้จำเลยที่ ๒ ได้ที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โจทก์ได้ที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จำเลยที่ ๓ ได้ที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากโจทก์ไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.