แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือจำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อให้บรรลุผลในการสร้างทางพิเศษ และในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 1 เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว…พ.ศ. 2533 กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ย่อมมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 กระทำหรือดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการเวนคืนที่ดินพิพาทในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้
โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือศาลมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมานับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น โดยไม่จำต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเสียก่อน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย ประกอบมาตรา 28 วรรคสอง และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตาม มาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ส่วนวันที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนไปยังโจทก์ผู้ถูกเวนคืนก็มิใช่วันวางเงินตามมาตรา 26 วรรคสุดท้าย และมาตรา 28 วรรคสองดังนั้น วันวางเงินตามความหมายแห่งกฎหมายทั้งสองบทนี้ คือวันสิ้นสุดกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือของฝ่ายจำเลยให้ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทน และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใด จึงต้องถือวันเดือนปี ที่ออกหนังสือดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นนับกำหนดเวลา
จำเลยมีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทน โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยภายใน 60 วัน หนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 สิ้นสุด 60 วัน ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2536วันวางเงินค่าทดแทนจึงเป็นวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 ดังนั้น วันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าทดแทนเสร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 83915 เนื้อที่ 49 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือบ้านตึก 2 ชั้น เลขที่ 507 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินถูกเวนคืน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 21,000 บาท รวม 49 ตารางวา เป็นเงิน 1,029,000บาท และสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 904,902.48 บาท รวมเป็นเงิน 1,933,902.48 บาท ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 50,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 1,421,000 บาท สิ่งปลูกสร้างควรมีราคา1,500,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มอีก 595,097 บาท รวมเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ 2,016,097 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ภายหลังฟ้องคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน55,667.36 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ 1,960,429.64 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,960,429.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้เป็นผู้กำหนดเงินค่าทดแทน ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทน และไม่ได้เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ถูกต้องแล้ว ส่วนค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดโดยวิธีถอดแบบ แล้วนำจำนวนวัสดุมาคำนวณเงินค่าทดแทน โดยใช้ราคาวัสดุจากกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นราคากลางของวัสดุก่อสร้าง เป็นฐานในการคำนวณ นอกจากนี้เงินค่าทดแทนยังรวมถึงค่าแรงก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงาน ค่าอำนวยการ ค่าภาษี ค่ากำไร และค่าสาธารณูปโภค เป็นเงิน 904,902.48 บาท ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้อีกตารางวาละ1,000 บาท รวม 49 ตารางวา เป็นเงิน 49,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6,667.36 บาทรวมเป็นเงิน 55,667.36 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปีนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 385,332.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันพิพากษาคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 875,332.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 83915 เลขที่ดิน 2183 เนื้อที่ 49 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านตึกพักอาศัย 2 ชั้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวางเขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ออกใช้บังคับ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 21,000 บาท จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ไปทำสัญญา แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำสัญญา จำเลยที่ 1 จึงทำการวางเงินค่าทดแทนตามกฎหมายและมีหนังสือแจ้งการวางเงินไปยังโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2537 โดยขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มเป็นตารางวาละ 50,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้อีกตารางวาละ 1,000 บาท รวมเป็นตารางวาละ 22,000 บาทจำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์รับไปแล้ว 1,078,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปัญหาแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เป็นการกำหนดค่าทดแทนโดยคำสั่งของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งแต่งตั้งตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มิได้กระทำการโดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 หรือแต่งตั้งจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 15 เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือจำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อให้บรรลุผลในการสร้างทางพิเศษ และในข้อ 17 ระบุว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 1 เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ย่อมมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 กระทำหรือดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการเวนคืนที่ดินพิพาทในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2534 ระหว่างนางบุญละมัย รักษ์บุญยวง โจทก์ นายจรัญ บุรพรัตน์ กับพวก จำเลย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ถูกต้องเป็นธรรมแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้โดยสภาพความเจริญของที่ดินโจทก์ ศาลฎีกาเชื่อว่าราคาจะต้องสูงกว่าตารางวาละ 22,000 บาทหรือมากกว่าราคาที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ และไม่น่าจะสูงถึงตารางวาละ 40,000 บาทดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อทั้งสองฝ่ายสืบไม่ได้โดยแจ้งชัดว่า ในวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละเท่าใด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดราคาให้ตารางวาละ 35,000 บาท ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลงเนื้อที่ 49 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 1,715,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปแล้วจำนวน 1,078,000 บาท คงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 637,000 บาท
ปัญหาสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คือปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อฝ่ายจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจนกว่าจะชำระค่าทดแทนเสร็จ เพราะฝ่ายจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มจากจำนวนค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ จึงต้องรอฟังผลคดีอันถึงที่สุดเสียก่อนว่าฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มหรือไม่ เพียงใด และดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับก็ต้องเป็นไปตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนผู้ใดไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งส่วนเงินค่าทดแทนของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนไว้ตามมาตรา 31 โดยพลัน” จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือศาลมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นโดยไม่จำต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเสียก่อน คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ปัญหาต่อไปมีว่า วันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนคือวันใดศาลอุทธรณ์ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มตั้งแต่วันที่7 กุมภาพันธ์ 2537 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือเอกสารหมาย จ.4 แจ้งการวางเงินค่าทดแทนไปยังโจทก์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าวันดังกล่าวมิใช่วันวางเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย และมาตรา 28 วรรคสอง วันวางเงินตามความหมายแห่งกฎหมายทั้งสองบทนี้ คือวันสิ้นสุด 60 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ของฝ่ายจำเลยให้ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 เมื่อใด ก็ต้องถือวันเดือนปีที่ออกหนังสือดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นนับกำหนดเวลาให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยภายใน 60 วัน หนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.3 ลงวันที่12 พฤษภาคม 2536 สิ้นสุด 60 วัน ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2536 วันวางเงินค่าทดแทนจึงเป็นวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 ดังนั้นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าทดแทนเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 637,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์