คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดพิจารณาศาลแรงงานได้บันทึกคำให้การของจำเลยและกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ศาลแรงงานสั่งว่า “จำเลยเคยให้การด้วยวาจาไว้แล้ว รวมสำนวนไว้ สำเนาให้โจทก์” ดังนี้ ไม่เป็นการแสดงว่าศาลแรงงานได้มีคำสั่งรับคำให้การเป็นหนังสือไว้แทนคำให้การที่บันทึกไว้เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
วันนัดพิจารณา จำเลยแถลงต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ได้หยุดงานไปเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องจากจำเลย
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิด และมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานกรมแรงงาน เจ้าพนักงานได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันโจทก์อันมีผลให้สิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลของโจทก์ระงับสิ้นไป โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้องไม่ได้ เห็นว่า ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำให้การของจำเลยและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ศาลแรงงานกลางสั่งคำให้การจำเลยว่า จำเลยเคยให้การด้วยวาจาไว้แล้ว รวมสำนวนไว้ สำเนาให้โจทก์ แสดงว่าศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยดังกล่าวไว้แทนคำให้การที่บันทึกไว้เดิมอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯมาตรา ๓๑ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย

Share