คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำนวนการสอบสวนเป็นพยานเอกสารที่คู่ความมีสิทธิอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 จึงรับฟังประกอบคำพยานโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในทางการที่จ้าง โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายรวม 105,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 105,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัททิพยประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 โดยสารไปในรถที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โจทก์มิใช่เจ้าของรถยนต์ตามที่อ้าง ค่าเสียหายโจทก์ไม่ถึงตามฟ้อง ฟ้องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมให้การว่า ผู้เอาประกันภัยคือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ไม่ใช่จำเลยที่ 2 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท เหตุที่เกิดเพราะความผิดของโจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายไม่เป็นความจริงและเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย 41,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยทั้งสามฎีกา (ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานบอกเล่าและเป็นพยานนอกสำนวนเพราะไม่มีพยานปากใดเบิกความถึง รับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำนวนการสอบสวนเป็นพยานเอกสารที่คู่ความมีสิทธิอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 สำนวนการสอบสวนดังกล่าวจึงรับฟังประกอบคำพยานโจทก์ได้

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาขอให้บริษัททิพยประกันภัย จำกัด จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วยนั้น เห็นว่าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดอย่างใดในกรณีนี้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดด้วย

พิพากษายืน

Share