คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 304/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีย์ที่ถือว่าโจทก์บรรยายฐานลักทรัพย์และรับของโจรพอเข้าใจความได้ และจำเลยไม่หลงต่อสู้

ย่อยาว

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ข้อ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๗ ตลอดมาถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ เวลากลางคืนได้มีคนร้ายลักเหล็กฉาบ ๒ อัน ราคา ๑๐๐๐ บาทของบริษัทและยางไทยของเหมืองที่ ๒๓ ไปจากความดูแลรักษาของนายเม่งต่อ เชื้อชาติและสัญชาติไทยไปโดยไม่ปรากตว่าใครเปนคนร้าย เหตุเกิดที่ตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ข้อ ๒ ครั้นต่อมาของร้ายรายนี้ได้ตกอยู่กับจำเลย โดยจำเลยได้สมคบกันรับเหล็กของร้ายรายนี้ไว้โดยรู้สึกว่าเปนของร้ายที่ได้มาในการกระทำผิดต่อกฎหมาย หรือมิฉะนั้นจำเลยได้สมคบกันลักเหล็กรายนี้มาโดยเจตนาทุจริต และเจ้าทรัพย์ไม่อนุญาตให้เอาไป ครั้นวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ เวลากลางคืนจำเลยนี้กับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้นำเรือไปบรรทุกเหล็กที่จำเลยลักมาซุ่ม ซ่อนไว้ เจ้าพนักงานจึงจับตัวจำเลยที่ ๑ ได้พร้อมกับเรือหนึ่งลำ เหล็กฉาบของกลาง ๒ อัน ฯลฯ”
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ข้อ ๑ ไม่ปรากตว่าใครเปนคนร้าย ข้อ ๒ คำว่า ครั้นต่อมา เข้าใจว่าได้หลายทาง คืออาจเปนวันเวลาที่ระบุไว้ในฟ้องข้อ ๑ หรือวันเวลาต่อจากวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ ก็ได้ แม้จะมีความตอนท้ายว่าวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ แต่โจทก์กล่าวชัดว่าจำเลยกับพวกนำเรือไปบรรทุกเหล็กที่จำเลยลักมาซุ่มซ่อนไว้ซึ่งเปนปัญหาว่าจำเลยลักไม่ใช่รับของโจร ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ครั้นต่อมาในข้อ ๒ ถ้าอ่านแต่ประโยคนั้น เข้าใจว่าหมายถึงหลังจากวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ แล้ว แต่เมื่ออ่านต่อไปถึงตอนที่จับจำเลยที่ ๑ ได้พร้อมด้วยของกลางในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๗ แล้ว เห็นได้ว่าหมายถึง ต่อมาเมื่อของหายแล้ว และตอนที่กล่าวถึงจับจำเลย โจทก์ใช้คำว่าจำเลยนำเรือไปบรรทุกเหล็กที่จำเลยลัก ไม่ได้กล่าวถึงรับของเรื่องลักนั้น เห็นว่าเข้มงวดเกินไป เพราะถ้าอ่านทั้งหมดแล้วก็พอเห็นได้ว่า โจทก์หมายถึงเรื่องรับของโจรด้วย และจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ แสดงว่าจำเลย+ข้อหาได้ดี ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หใ้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share