คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 94 บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบถึงบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินตลอดจนเงื่อนไขการชำระราคาที่ดินอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น หาต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงนำสืบได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าที่ดินที่ค้างอยู่ตามสัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นเงิน 455,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินตามฟ้องจากโจทก์และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยแล้วจริง โดยซื้อขายกันในราคาเพียง 120,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินไปจากจำเลยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว เงินจำนวน 855,700 บาทนั้น เป็นเงินที่จำเลยเอาเช็คดังกล่าวในฟ้องไปขอแลกเอาเงินสดมาจากโจทก์และสามีของโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นที่ฟ้องคดีอยู่ เนื่องจากเช็คดังกล่าวขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงเปลี่ยนเป็นฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินโดยอ้างว่าจำเลยชำระหนี้เป็นเช็คไว้ให้ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเช็คดังกล่าวจำเลยก็มิได้รับเงินครถ้วนตามที่เขียนไว้ในเช็คโดยจำนวนเงินในเช็คโจทก์ได้รวมดอกเบี้ยซึ่งสูงกว่ากฎหมายเข้าไว้ด้วย ประกอบกับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องนั้นก็ไม่มีแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 455,700 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่าตามหนังสือสัญญาขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.14 ระบุที่ดินราคา 120,000 บาท และผู้ขายรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว การที่โจทก์กลับนำสืบว่า ราคาที่ดินเป็นเงินจำนวน 858,750 บาท เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาซื้อขายนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบถึงบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินตลอดจนเงื่อนไขการชำระราคาที่ดินอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น หาต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงนำสืบได้…”
พิพากษายืน.

Share