แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทของ จ. ผู้ตาย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ โดยบรรยายฟ้องตอนแรกว่าผู้ตายผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมาทำงานและตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ และบรรยายฟ้องต่อมาอีกว่าโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำค่าเสียหายมาชำระ แต่จำเลยไม่ชำระโดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเลยว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อใด โจทก์รู้ถึงการตาย ของผู้ตายเมื่อใด จึงเป็นเหตุให้จำเลยไม่ทราบข้ออ้างของโจทก์ และไม่อาจให้การได้โดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะเหตุใด ถือว่าโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองดังนี้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2525นายเจตร์หรือเฉลียว ภู่ประเสริฐ บิดาจำเลยทำสัญญารับจ้างปลูกสร้างบ้านให้โจทก์เป็นเงิน 12,000 บาท รับเงินมัดจำไป 2,000 บาท ส่วนที่เหลือ 10,000 บาท กำหนดชำระเมื่อปลูกสร้างบ้านเสร็จและส่งมอบแล้วปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง ในวันเดียวกันนั้นเองบิดาจำเลยเริ่มปลูกสร้างบ้านให้โจทก์ โดยหล่อเสาตอม่อจำนวน 8 ต้นทำอยู่ 5-6 วัน แต่ทำไม่ได้สัดส่วนและบกพร่อง โจทก์ทักท้วงแต่บิดาจำเลยไม่ยอมแก้ไข และทิ้งงานไป โจทก์ติดตามหลายครั้งแต่ไม่ยอมมาทำงานต่อ วันที่ 20 พฤษภาคม 2525 โจทก์กำหนดเวลาให้มาทำภายใน1 เดือน บิดาจำเลยก็ไม่มาได้แต่ผัดผ่อนโจทก์จึงจ้างช่างอื่นรวม 5 คนมาทำใหม่ทั้งหมด ช่างได้รื้อถอนเสาปูน 10 วัน ค่าจ้างคนละ 150 บาทต่อหนึ่งวัน รวมเป็นเงิน 7,500 บาท ค่าิ่งของเสียหายเป็นเงิน2,438 บาท ต่อมาช่างสร้างบ้านยังไม่เสร็จ โจทก์ได้หยุดจ้างและมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยมาทำและตกลงค่าเสียหายที่บิดาจำเลยทำไว้ จำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่จัดการแต่อย่างใด การกระทำของบิดาจเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดคืนมัดจำ ชำระค่ารื้อถอนเสาปูนและสิ่งของเสียหาย รวมเป็นเงิน11,938 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำชำระค่ารื้อถอนเสาปูนและสิ่งของเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 11,938 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า บิดาจำเลยทำสัญญารับจ้างปลูกสร้างบ้านให้โจทก์ ตกลงค่าแรงในการก่อสร้างเป็นเงิน 12,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้หาวัสดุ แต่การที่โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาก่อสร้างแล้วเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 11,938 บาทนั้น เป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างบิดาจำเลย ค่าเสียหายดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่เป็นความจริงการชำรุดบกพร่องที่โจทก์อ้างเพียงเล็กน้อยสามารถซ่อมแซมต่อเติมได้แต่โจทก์กลับทำใหม่ทั้งหมด โจทก์จึงต้องรับผิดชอบเอง ฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าเสียหายจากบิดาของจำเลยนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นคำฟ้องที่ขาดอายุความโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่าบิดาจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่มิได้บรรยายว่าจำเลยจะต้องรับผิดในฐานะอะไรและจำเลยจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร อาจทำให้จำเลยหลงต่อสู้ได้ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้งดเสีย คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดและฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นหรือฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เสียก่อน เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทของนายเจตร์หรือเฉลียว ภู่ประเสริฐ ผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของกับโจทก์ โดยทำสัญญากันตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2525 โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่าผู้ตายผิดสัญญาให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมาทำงานและตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529 และบรรยายฟ้องต่อมาอีกว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำค่าเสียหายมาชำระ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2529 แต่จำเลยไม่ชำระ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเลยว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อใด โจทก์รู้ถึงการตายของผู้ตายเมื่อใด จึงเป็นเหตุให้จำเลยไม่ทราบข้ออ้างของโจทก์ และไม่อาจให้การได้โดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใดถือว่าโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.