คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 ไม่ได้ห้ามนายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี บางกรณีนายจ้างก็ยังมีสิทธิเรียกเงินประกันการทำงานได้ ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ดังนั้น เมื่อได้ความว่า นางสาว อ. มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ โจทก์ได้หักค่าจ้างของนางสาว อ. ไว้เป็นเงินประกันและได้นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้ที่บริษัท ก. จำกัด อันเป็นสถาบันการเงินในนามนางสาว อ. แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขบัญชีให้นางสาว อ. ทราบซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์ เรียกเก็บจากนางสาว อ. โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกันดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่นางสาว อ. ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 28/2542 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และให้จำเลยทั้งสองยกคำร้องของนางสาวศุภณัฐ และนางสาวอุบล กับคืนเงินจำนวน 26,814 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยลงนามในคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 คำสั่งดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงาน ตรวจแรงงานไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงจากฝ่ายลูกจ้างทั้งสองและออกหนังสือเชิญให้โจทก์ไปแสดงพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าการหักค่าจ้างของลูกจ้างทั้งสองไว้เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 76 โจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่าเป็นการหักค่าจ้างสะสมร้อยละ 10 ของเงินเดือนเพื่อประกัน ความเสียหายและความรับผิดต่าง ๆ ของลูกจ้างทั้งสอง การหักเงินเดือนของลูกจ้างเพื่อประกันดังกล่าวถือเป็น การฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิกระทำได้ ตามกฎหมาย ลูกจ้างทั้งสองปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ากระทำการทุจริต ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าลูกจ้างทั้งสองหรือประพฤติผิดอย่างไรจึงมีสิทธิยึดเงินสะสมของลูกจ้างไว้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ของถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะ จำเลยที่ 2 ออกสารบบความ
ศาลแรงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่นางสาวศุภณัฐ จำนวน 17,399 บาท และนางสาวอุบล ศรีผ่อง จำนวน 9,415 บาท นางสาวอุบลเข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุยายน 2541 ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานีสาขาตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี ลาออกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2541 โจทก์หักเงินเดือนของนางสาวอุบลไว้จำนวน 9,415 บาท นางสาวศุภณัฐเข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2540 ต่อมาได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานีสาขาบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ลาออกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์หักเงินเดือนของนางสาวศุภณัฐไว้จำนวน 17,399 บาท นางสาวอุบลและนางสาวศุภณัฐลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือยินยอมให้หักเงินเพื่อเป็นประกันการทำงาน หากมีสินค้าสูญหายเกินร้อยละ 2 ของยอดขาย ส่วนที่สูญหายเกินนั้นทางสถานีจะต้องชดใช้โดยมีอัตราส่วน ผู้จัดการสถานี ร้อยละ 35 ผู้ช่วยผู้จัดการสถานีร้อยละ 25 เมอร์ซานไดเซอร์และแคลเชียร์รวมกันร้อยละ 40 เมื่อนางสาวอุบลเคยเป็นทั้งผู้ช่วยผู้จัดการสถานีและผู้จัดการสถานีในช่วงที่มีการตรวจสอบแม้จะอ้างว่าตรวจสอบย้อนขึ้นไปถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการสถานีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสถานีจึงยังคงต้องร่วมรับผิดในอัตราส่วนดังกล่าว รายนางสาวอุบลรับฟังได้ว่าสินค้าขาดหายเป็นเงิน 99,135 เมื่อคำนวณยอดสินค้าขาดหายในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสินค้าแล้วคิดเป็นเงิน 41,463.68 บาท ส่วนที่เกินร้อยละ 2 ที่จะต้องร่วมรับผิดด้วยกันเป็นเงิน 57,671.32 บาท เมื่อคิดอัตราส่วนที่ผู้ช่วยผู้จัดการสถานีจะต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 25 แล้ว คิดเป็นเงิน 14,417.83 หากคิดในอัตราส่วนที่ผู้จัดการสถานีจะต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 35 แล้วจะสูงกว่านี้ แต่เงินที่โจทก์หักไว้เป็นจำนวน 9,415 บาท ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่นางสาวอุบลจะต้องรับผิด โจทก์จึงมีสิทธินำเงินที่หักไว้ไปชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องได้ ส่วนนางสาวศุภณัฐเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการสถานีที่มีการตรวจสอบยอดสินค้าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ตรวจสอบยอดสินค้าในรอบระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการรวมยอดสินค้าก่อนที่นางสาวศุภณัฐจะเข้ารับตำแหน่งไว้ด้วยเป็นส่วนใหญ่ คงมีรายการสินค้าที่นางสาวศุภณัฐจะต้องรับผิดเพียง 11 วัน แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าในเวลา 11 วัน ที่นางสาวศุภณัฐเข้ารับตำแหน่งมีสินค้าสูญหายไปเท่าใดเกินร้อยละ 2 ของยอดขายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าสูญหายเกินร้อยละ 2 ของยอดขาดที่นางสาวศุภณัฐจะต้องรับผิดชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินที่หักไว้ไปชำระ ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องได้ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 เรื่อง สั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่นางสาวอุบล จำนวน 9,415 บาท ให้คืนเงินที่โจทก์นำมาวางศาลไปจำนวน 9,415 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว คดีมีปัญหาต้องตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีสิทธินำเงินของนางสาวอุบล ที่หักไว้มาชดใช้ความเสียหายในการทำงานหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ขณะที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2541 อยู่ในระหว่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2514 มีผลใช้บังคับ ซึ่งไม่มีข้อใดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงาน ครั้นต่อมานับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 จึงได้มีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอีกต่อไป โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคสอง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและ วิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการวางหลักการไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ห้ามนายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี แต่ได้เปิดช่องไว้ว่าบางกรณีนายจ้างก็ยังมีสิทธิเรียกเงินประกันการทำงานได้หากเข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด และต่อมาก็ได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และ วิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ได้กำหนดลักษณะงานที่นายจ้างจะเรียกหรอืรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างไว้ในข้อ 4 (6) คือ งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น ข้อ 5 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันตามข้อ 4 จำนวนเงินที่เรียกหรือรับไว้จะต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตรา ค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกัน และข้อ 7 กำหนดว่า ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อ ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ทั้งนี้ นายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันโดยวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้นี้มิได้ ดังนี้ เมื่อได้ความว่านางสาวอุบลเป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินาภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ศาลแรงงานกลาง รับฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวอุบลได้รับค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยในวันที่โจทก์รับเงินประกันจากนางสาวอุบลจำนวน วันละ 233.33 บาท โจทก์ได้หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันทั้งสิ้นจำนวย 9,415 บาท โดยโจทก์นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร จำกัด อันเป็นสถาบันการเงินในนามนางสาวอุบล จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบัญญัติมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้นางสาวอุบลทราบ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และ วิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ข้อ 7 ดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์เรียกเก็บจากนางสาวอุบลโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกัน ดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่นางสาวอุบลก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้ และโจทก์ไม่ต้องคืนเงินประกันแก่นางสาวอุบลตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 เฉพาะส่วนที่สั่งให้จ่ายแก่นางสาวอุบลจำนวน 9,415 บาท นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share