คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่ เมื่อใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไป ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้ ว. ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 660,173.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 494,046.42 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 51245 พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โดยในการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องและคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ส่งไปที่บ้านเลขที่ 33 ซึ่งเป็นที่อยู่ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรในขณะนั้น ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2546 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 51245 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว เป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 67/420 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคารวม 503,800 บาท ประกาศขายทอดตลาดฉบับแรก ประกาศว่าจะขายทอดตลาด 4 ครั้ง ในการแจ้งคำสั่งศาลอนุญาตให้ขายและวันขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่เลขที่ 999 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ระบุว่าย้ายเข้าไปอยู่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 เจ้าหน้าที่อำเภอบ้านแพ้วให้ข้อมูลว่าเลขที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ทำงานของมูลนิธิวัดเทพรัตนาราม หากการส่งไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ส่งโดยวิธีประกาศทางหนังสือพิมพ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งจำเลยที่ 1 โดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทรงวุฒิ เป็นผู้มีอำนาจจัดการดูแลการขาย คัดค้านราคาที่มีผู้เสนอต่ำแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ โดยแนบสำเนาใบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 และสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของนายทรงวุฒิมาด้วย ครั้นถึงวันขายทอดตลาดครั้งที่ 1 วันที่ 26 พฤษภาคม 2547 มีผู้เข้าสู้ราคา 1 คน เสนอราคา 1,000,000 บาท ผู้แทนโจทก์ไม่คัดค้านราคา นายทรงวุฒิ คัดค้านราคาว่าควรขายได้ในราคา 1,200,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขาย แต่ต้องเลื่อนการขายไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ ต่อมาวันขายทอดตลาดครั้งที่ 2 วันที่ 16 มิถุนายน 2547 มีผู้เข้าสู้ราคา 2 คน ผู้เสนอราคาสูงสุดเสนอราคา 950,000 บาท ผู้แทนโจทก์ไม่คัดค้านราคา นายทรงวุฒิคัดค้านราคาเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่านัดที่แล้วและมีเหตุขัดข้องตามมาตรา 309 ทวิ จึงเลื่อนการขายไป วันขายทอดตลาดครั้งที่ 3 วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ไม่มีผู้เข้าสู้ราคา วันขายทอดตลาดครั้งที่ 4 วันที่ 28 กรกฎาคม 2547 มีแต่ฝ่ายโจทก์รายเดียวเข้าสู้ราคาโดยเสนอราคา 260,000 บาท นายทรงวุฒิคัดค้านราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายตามนโยบายของกรมบังคับคดี แต่มีเหตุขัดข้องตามมาตรา 309 ทวิ จึงงดการขายไว้และประกาศขายใหม่ ในการประกาศขายทอดตลาดครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการประกาศขายทอดตลาดฉบับที่สอง ประกาศว่าจะขายทอดตลาดอีก 4 ครั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 โดยประกาศทางหนังสือพิมพ์เช่นเดิม ครั้นถึงวันขายทอดตลาดครั้งที่ 5 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 มีผู้เข้าสู้ราคา 3 คน รวมทั้งผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 440,000 บาท ผู้แทนโจทก์ไม่คัดค้านราคา ฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่มาดูแลการขายเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 440,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องในเวลา 16.40 นาฬิกา ปิดทำการแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องในวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายทรงวุฒิ ดูแลการขายทอดตลาดจนเสร็จการ เมื่อขายทอดตลาดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น คือต้องยื่นภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ดังกล่าวแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิคัดค้านการขายทอดตลาดนั้นให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 สองฉบับ ฉบับแรกมีใจความว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบจากนายขวัญชัย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงให้นายทรงวุฒิ ไปขอคัดถ่ายเอกสารจากสำนักงานบังคับคดี นายทรงวุฒิไปขอคัดถ่ายเอกสารเมื่อวันที่ 3 เดือนเดียวกัน แต่ใกล้หมดเวลาราชการเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการต่อในวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดไว้ไต่สวนต่อไป ฉบับที่สอง มีใจความทำนองเดียวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนคำร้องทั้งสองฉบับ โดยสำหรับคำร้องฉบับแรกนั้นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 และขอให้สั่งรับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ไว้ไต่สวนต่อไป
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ทั้งสองฉบับ ค่าคำร้องทั้งสองฉบับให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ไว้ดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ แต่กลับมายื่นคำร้องใหม่อีกสองฉบับตามคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ว่าต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ก็ยังต้องไต่สวนให้ได้ความเสียก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่เมื่อใด แต่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งไปทันทีโดยไม่ไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวเสียก่อนย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบที่จำเลยที่ 1 จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ที่ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไปย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามา หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ข้อต่อมาว่า สมควรให้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ไว้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวข้างต้น โดยที่โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้นายทรงวุฒิ ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 เห็นได้ชัดว่าเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ยื่นภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม พิพากษาให้รับคำร้องไว้ดำเนินการต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา แต่ศาลฎีกาตรวจพยานหลักฐานในท้องสำนวนประกอบกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานเพียงพอแก่การพิจารณา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้เสียเวลาในการพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเพิ่มเติมหรือวินิจฉัยใหม่อีก ได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทราบวันขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ถึง 4 แล้วจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายทรงวุฒิ เป็นผู้มีอำนาจจัดการดูแลการขายคัดค้านราคาที่มีผู้เสนอต่ำแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ โดยแนบสำเนาใบรับคำขอมีบัตรมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 และสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของนายทรงวุฒิมากับหนังสือมอบอำนาจด้วย โดยมีที่อยู่ทั้งของจำเลยที่ 1 และนายทรงวุฒิชัดเจนตามหนังสือมอบอำนาจ นายทรงวุฒิมอบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมไว้ในสำนวนของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ดังนั้น ในการแจ้งวันขายทอดตลาดฉบับที่สองซึ่งเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 5 ถึง 8 เจ้าพนักงานบังคับคดีควรแจ้งวันขายทอดตลาด แก่จำเลยที่ 1 ตามที่อยู่จำเลยที่ 1 ที่ระบุไว้ หรืออย่างน้อยควรแจ้งวันขายทอดตลาดแก่นายทรงวุฒิตามที่อยู่นายทรงวุฒิที่ระบุไว้ด้วย เพราะนายทรงวุฒิเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มีอำนาจดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดียังสามารถแจ้งแก่จำเลยที่ 1 และนายทรงวุฒิได้ ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะแจ้งวันนัดขายทอดตลาดโดยการประกาศทางหนังสือพิมพ์ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 โดยการประกาศทางหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าในการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ถึง 4 นายทรงวุฒิมาดูแลการขายทุกนัดแต่ในครั้งที่ 5 ไม่ได้มา น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และนายทรงวุฒิไม่ทราบวันนัดขายทอดตลาด หาใช่ประวิงคดีดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่ เมื่อการแจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบ ย่อมเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้”
พิพากษายืน และให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 51245 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ขายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share