แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อ. เป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้
การที่ อ. ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกันซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท โจทก์หักค่าจ้างของอ. ไว้เป็นเงินประกันจำนวน 9,415 บาท จึงเป็นจำนวนเงินที่โจทก์สามารถเรียกได้และโจทก์ได้นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. อันเป็นสถาบันการเงินในนามของ อ. จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แม้โจทก์จะไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ อ. ทราบก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์เรียกเก็บจาก อ. โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกันดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่ อ. ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้และไม่จำต้องคืนเงินประกันดังกล่าวแก่ อ. ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานในตำแหน่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 28/2542 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่นางสาวอุบล ศรีผ่องจำนวน 9,415 บาท และนางสาวศุภณัฐ ตันติวุฒิ จำนวน 17,399 บาท โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ออกคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตาม อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ นางสาวอุบลเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยจัดการสถานี เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม2540 และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานี นางสาวศุภณัฐเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสถานี เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2540 และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานี บุคคลทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมดูแลและรับผิดชอบสินค้าในร้านค้าและสถานีน้ำมันของโจทก์ที่สาขาซึ่งบุคคลทั้งสองประจำอยู่โจทก์ได้หักเงินสะสมร้อยละ10 ของเงินเดือนของบุคคลทั้งสองไว้เพราะในการเข้าทำงานของบุคคลทั้งสองในตำแหน่งผู้จัดการสถานีจะต้องมีการประกันด้วยเงินสดต่อโจทก์เพื่อความเสียหายและความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือเนื่องจากการกระทำของบุคคลทั้งสองเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท แต่บุคคลทั้งสองไม่สามารถส่งมอบเงินสดจำนวนดังกล่าวเพื่อเป็นประกันได้ จึงยินยอมให้โจทก์หักเงินจากค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้แต่ละครั้งเป็นจำนวนร้อยละ 10 ของค่าจ้างเพื่อให้โจทก์นำไปเข้ากองทุนจนกว่าจะครบจำนวน 30,000 บาท โดยบุคคลทั้งสองยินยอมให้โจทก์นำเงินที่สะสมไว้ไปชำระค่าเสียหายอันเกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลทั้งสองทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าภายในร้านและสถานีน้ำมันของโจทก์หรือความเสียหายที่บุคคลทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาจ้างที่มีแก่โจทก์ระหว่างที่บุคคลทั้งสองปฏิบัติงานโจทก์ได้ตรวจสอบสินค้าภายในร้านและสถานีน้ำมันพบว่า รายนางสาวอุบลในการตรวจสอบสินค้าระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 6สิงหาคม 2541 ปรากฏว่ายอดสินค้าขาดไปจำนวน 99,135.50 บาท และจากรายงานการตรวจสอบสินค้าถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2541 พบว่าการสูญหายในร้านคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 104,005.90 บาท รายนางสาวศุภณัฐในการตรวจสอบสินค้าระหว่างวันที่ 13มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ปรากฏว่ายอดขายสินค้าขาดไปจำนวน123,269.50 บาท จากการตรวจสอบสินค้าของบุคคลทั้งสองมีสินค้าสูญหายเกินร้อยละ3 ขึ้นไป ซึ่งตามประกาศเรื่องแนวทางปฏิบัติในการควบคุมสินค้าสูญหายของโจทก์ หากยอดสูญหายตั้งแต่ร้อยละ 3 ขึ้นไปให้พ้นจากการเป็นพนักงาน บุคคลทั้งสองทราบประกาศคดีจึงได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์จึงไม่คืนเงินประกันให้แก่บุคคลทั้งสองเพราะโจทก์ต้องนำไปชำระค่าสินค้าที่สูญหายตามสัญญาประกัน การที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่บุคคลทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 28/2542 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และให้จำเลยทั้งสองยกคำร้องของนางสาวศุภณัฐ ตันติวุฒิ และนางสาวอุบล ศรีผ่อง กับคืนเงินจำนวน26,814 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 เรื่อง สั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่นางสาวอุบล ศรีผ่องจำนวน 9,415 บาท ให้คืนเงินที่โจทก์นำมาวางศาลไปจำนวน 9,415 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีสิทธินำเงินของนางสาวอุบลที่หักไว้มาชดใช้ความเสียหายในการทำงานหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ขณะที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2541 อยู่ในระหว่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 มีผลใช้บังคับซึ่งไม่มีข้อใดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงาน ครั้นต่อมานับแต่วันที่ 19สิงหาคม 2541 จึงได้มีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอีกต่อไป โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคสอง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการวางหลักการไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ห้ามนายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี แต่ได้เปิดช่องไว้ว่า บางกรณีนายจ้างก็ยังมีสิทธิเรียกเงินประกันการทำงานได้หากเข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด และต่อมาก็ได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่19 สิงหาคม 2541 ได้กำหนดลักษณะงานที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างไว้ในข้อ 4(6) คือ งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้นข้อ 5 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันตามข้อ 4 จำนวนเงินที่เรียกหรือรับไว้จะต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกัน และข้อ 7 กำหนดว่า ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ทั้งนี้นายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันโดยวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้นี้มิได้ดังนี้เมื่อได้ความว่านางสาวอุบลเป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวอุบลได้รับค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยในวันที่โจทก์รับเงินประกันจากนางสาวอุบลจำนวนวันละ 233.33 บาทโจทก์ได้หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันทั้งสิ้นจำนวน 9,415 บาท โดยโจทก์นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร จำกัด ในนามนางสาวอุบล รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 10,145.44 บาท แต่โจทก์ไม่เคยแจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีซึ่งโจทก์นำเงินประกันฝากไว้ให้นางสาวอุบลทราบ การที่นางสาวอุบลได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกันซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกัน คิดเป็นเงิน 13,999.80บาท โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันจำนวน 9,415 บาท จึงเป็นจำนวนที่โจทก์สามารถเรียกได้และโจทก์ได้นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร จำกัด อันเป็นสถาบันการเงินในนามนางสาวอุบล จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้นางสาวอุบลทราบซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมข้อ 7 ดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์เรียกเก็บจากนางสาวอุบลโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกันดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่นางสาวอุบลก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้ และโจทก์ไม่ต้องคืนเงินประกันแก่นางสาวอุบลตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 เฉพาะส่วนที่สั่งให้จ่ายเงินแก่นางสาวอุบลจำนวน 9,415 บาท นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน