คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ส. พนักงานของโจทก์ปลอมหนังสือรับรองของโจทก์ไปขอเปิดบัญชีเงินฝากในนามโจทก์กับธนาคารจำเลย จำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานด้วยความระมัดระวัง กับไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีการของธนาคารได้อนุมัติให้เปิดบัญชี ซึ่ง ส.ได้นำเช็คที่มีผู้สั่งจ่ายให้โจทก์ไปเข้าบัญชีหลายครั้ง และถอนออกจากบัญชีไปหมดสิ้นแล้วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ดังนี้ ฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เพราะเงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกถอนออกจากบัญชีไปหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทรัพย์สินของโจทก์อยู่กับจำเลยอีกแต่อย่างใด แต่ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีตามมาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเป็นผู้จัดการสาขาเยาวราชของจำเลยที่ 2โจทก์ติดต่อค้าขายกับหน่วยราชการเป็นส่วนใหญ่ ทางราชการจะจ่ายเงินให้โจทก์เป็นเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย ขีดคร่อมเฉพาะจ่ายให้โจทก์ จากนั้นโจทก์จะนำเช็คเข้าบัญชีโจทก์ที่เปิดไว้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2525 นางสาวสำอางค์ศรีสุวรรณ พนักงานของโจทก์ได้ร่วมกับนายอำนวย เกาะเพชรปลอมหนังสือรับรองบริษัทโจทก์โดยเปลี่ยนข้อความในหนังสือรับรองเรื่องอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนและผูกพันโจทก์จาก “พันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณะ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือกรรมการอื่นสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท” เป็น “นางสาวสำอางค์ ศรีสุวรรณลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทหรือกรรมการอื่นสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท” แล้วนำไปขอเปิดบัญชีเงินฝากในนามโจทก์กับจำเลยที่ 2 สาขาเยาวราชซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 1 โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ตรวจดูว่าหนังสือรับรองนั้นเป็นต้นฉบับหรือสำเนาที่แท้จริงหรือไม่ และรายงานการประชุมบริษัทก็ไม่มีมติให้เปิดบัญชีที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาเยาวราช จำเลยที่ 1ได้อนุมัติให้นางสาวสำอางค์เป็นบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2525 โดยรับเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน 851,517.87 บาท ที่กรมการเงินทหารบกออกให้โจทก์นำฝากเข้าบัญชีในวันเปิดบัญชีต่อมานายอำนวยและนางสาวสำอางค์ได้นำเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทางราชการจ่ายให้โจทก์ไปเข้าบัญชีดังกล่าวอีก 5 ครั้ง รวมเป็นเงินที่นำเข้าบัญชีทั้งสิ้น2,489,080.18 บาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้ นายอำนวยได้ให้นางสาวสำอางค์ถอนออกจากบัญชีไปหมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2525 การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2526 เป็นต้นไปคิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 357,805.25 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,846,885.43 บาท โจทก์เพิ่งทราบการกระทำละเมิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2527 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,846,885.43 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 2,489,080.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไรและเพียงใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมและโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสองได้กระทำโดยสุจริต มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ปลายเดือนตุลาคม 2525 นางสาวสำอางค์ ศรีสุวรรณพนักงานของโจทก์ร่วมกับนายอำนวย เกาะเพชร ปลอมหนังสือรับรองบริษัทโจทก์โดยเปลี่ยนข้อความในหนังสือรับรองเรื่องอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนและผูกพันโจทก์จาก “พันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณะลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือกรรมการอื่น 2 คนลงลายมือชื่อร่วมกันแล้วประทับตราสำคัญของบริษัท” เป็น”นางสาวสำอางค์ ศรีสุวรรณ ลงลายมือชื่อแล้วประทับตราสำคัญของบริษัท หรือกรรมการอื่น 2 คนลงลายมือชื่อร่วมกันแล้วประทับตราสำคัญของบริษัท” แล้วนำไปเปิดบัญชีเงินฝากในนามของโจทก์ กับธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาเยาวราช ซึ่งมีจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้นางสาวสำอางค์เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2525 โดยรับเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน 851,517.87 บาท ที่กรมการเงินทหารบกออกให้โจทก์นำฝากเข้าบัญชีในวันนั้นเอง ต่อมานายอำนวยและนางสาวสำอางค์ได้นำเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทางราชการจ่ายให้โจทก์ไปเข้าบัญชีดังกล่าวอีก 5 ครั้ง รวมเป็นเงินที่นำเข้าบัญชีทั้งสิ้น 2,489,080.18 บาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้นายอำนวยได้ให้นางสาวสำอางค์ถอนออกจากบัญชีไปหมดสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2525 พันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณะกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์รู้เรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม2526 ในวันที่พันตำรวจตรีกมลไปขอตรวจสอบหลักฐานจากธนาคารจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2527
ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องในมูลละเมิด ไม่ชอบ เพราะโจทก์มุ่งประสงค์ฟ้องเรียกร้องติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์ อันได้แก่เงินจำนวน2,489,080.18 บาท คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 สิทธิติดตามเอาคืนของโจทก์จึงยังมีอยู่และไม่มีอายุความนั้น เห็นว่า ได้ความว่าเงินจำนวนดังกล่าวนางสาวสำอางค์ผู้ฝากเงินได้ถอนออกจากบัญชีไปหมดสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2525 ไม่มีทรัพย์สินของโจทก์อยู่กับจำเลยอีกแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลย ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งถ้าโจทก์ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 และโจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อจริง แม้จะไม่มีทรัพย์สินของโจทก์อยู่ที่จำเลย จำเลยทั้งสองก็ย่อมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็ละเลยเสียไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความดังกล่าวที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share