คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3027/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโคเดอีนตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจนไม่เกี่ยวเนื่องกันและเจตนาในการกระทำความผิดก็เป็นคนละอย่างแตกต่างจากกัน ความผิดแต่ละข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7,8, 17, 69, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2490 (ที่ถูก พ.ศ.2509) มาตรา 4, 5, 24, 44, 50 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 90, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับแก่สายลับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ โดยความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17, 69 วรรคสอง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2490 (ที่ถูก พ.ศ.2509) มาตรา 4, 5, 24, 44, 50 ฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี และปรับ 60,000 บาท ฐานจำหน่ายโคเดอีน จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 237,944 บาท ฐานมียาสูบไม่ปิดแสตมป์ไว้เพื่อขาย ปรับ 527,625 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 845,569 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 422,784.50 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง จ่ายเงินรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรและพระราชบัญญัติยาสูบเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 237,944 บาท ความผิดฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุก 2 ปี และปรับ 277,944 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี และปรับ 138,972 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดในกำหนดเวลาดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมาว่า ข้อหารับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรและข้อหามีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโคเดอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า ความผิดแต่ละข้อหาดังกล่าวมีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจนไม่เกี่ยวเนื่องกันและเจตนาในการกระทำความผิดก็เป็นคนละอย่างแตกต่างจากกัน ความผิดแต่ละข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่โต้เถียงว่าจำเลยมีเจตนาเดียวคือหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติศุลกากรเพียงบทเดียวไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share