คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3022/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอ้างแต่เพียงว่าจำเลยได้ครอบครองทรัพย์พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่วันที่โจทก์ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยไม่ได้อ้างว่าจำเลยเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์พิพาททั้งหมด ต่อมาโจทก์จำเลยทะเลาะกันจำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้านซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทโดยการครอบครองนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่ จำเลยไม่มีสิทธินำทรัพย์นั้นไปจำหน่ายจ่ายโอน คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปตีใช้หนี้ให้แก่บิดาจำเลยไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาท โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยออกไปจากบ้านพิพาทและส่งมอบทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2522 โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และในวันที่4 ธันวาคม 2522 โจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งสินสมรสโดยจำเลยยอมแบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ คือ (1) ตู้โชว์ห้องยา 1 ตู้ (2) พัดลมแอร์ใหญ่1 เครื่อง (3) พัดลมเพดาน 1 เครื่อง (4) นาฬิกาใหญ่ 1 เรือน(5) ตู้เสื้อผ้าในห้องนอน 1 ตู้ (6) สเตริโอ 1 เครื่อง (7)ตู้กับข้าว 1 ตู้ (8) โทรทัศน์ 1 เครื่อง (9) ทรัพย์สินในร้าน(10) เตียงสปริง 1 เตียง (11) วีดีโอ 1 เครื่อง (12) ตู้โชว์เก่า1 ตู้ (13) บ้านและที่ดินพร้อมโฉนด (14) บ้านที่ป่าไผ่ 1 หลังและให้โจทก์ใช้หนี้บุคคลอื่นเป็นเงิน 22,590 บาท ตามสำเนาหนังสือแบ่งสินสมรส เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (ที่ถูกหมายเลข 2)เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2528 จำเลยได้นำทรัพย์สินของโจทก์ไปยกให้บิดาของจำเลย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอบังคับให้จำเลยคืนทรัพย์สินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 1 ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือยกทรัพย์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้แก่โจทก์จริง แต่ทรัพย์ตามฟ้องดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่จำเลยแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา เพราะโจทก์เปลี่ยนใจเนื่องจากนับแต่โจทก์จำเลยหย่ากัน จำเลยต้องรับภาระเป็นผู้ให้การศึกษาเลี้ยงดูบุตรทั้งสามแต่ผู้เดียว โดยจำเลยและบุตรอาศัยอยู่ที่บ้านป่าไผ่ โจทก์เห็นใจจำเลยและสงสารบุตรจึงไม่ขอรับบ้านและทรัพย์สินในบ้านเลขที่ 55 และมอบคืนให้จำเลยกับบุตรเพื่อใช้และอยู่อาศัย ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2525 โจทก์มาเรียกร้องค่าตอบแทนที่ได้ยกบ้านป่าไผ่เลขที่ 55 และเครื่องเรือนของใช้ในบ้าน จำเลยยอมมอบเงินให้โจทก์ไป 40,000 บาท โจทก์สัญญาว่าจะไม่มาเรียกร้องเพิ่มเติมอีกโดยโจทก์ไปหากินที่จังหวัดพิษณุโลกทรัพย์สินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ยกเว้นบ้านและที่ดินพร้อมโฉนดจึงตกเป็นของจำเลยนับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบการครอบครองหลังวันหย่าหนึ่งวัน การที่จำเลยนำเอาบ้านและเครื่องเรือนไปชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์จึงเป็นสิทธิของจำเลยและทรัพย์สินดังกล่าวได้เปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่นแล้ว และจำเลยได้ครอบครองทรัพย์สิน เครื่องเรือน ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2522 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้วกรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของจำเลยตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเรือนของโจทก์ตามฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ตามฟ้องทั้งหมดแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ 4 ธันวาคม 2522โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือตกลงแบ่งสินสมรส โดยจำเลยยกทรัพย์สินตามฟ้องทั้ง 14 รายการให้โจทก์ โจทก์ต้องใช้หนี้บุคคลภายนอกเป็นเงิน 22,590 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยไม่ได้ชำระเงินจำนวน 40,000 บาท ให้โจทก์ตามคำให้การของจำเลยแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2528 จำเลยได้นำบ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 1ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และทรัพย์สินในบ้านดังกล่าวอันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้แบ่งให้โจทก์แล้วไปชำระหนี้ให้แก่นายทองหล่อ คลี่สกุล บิดาจำเลย ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15/2528 ของศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่จำเลยยังคงครอบครองบ้านและทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ และโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนำสืบว่า หลังจากที่ตกลงแบ่งสินสมรสกันแล้ว โจทก์เห็นใจจำเลยเพราะจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรทั้งสาม จึงยกทรัพย์พิพาทให้จำเลย ขณะนี้ทรัพย์พิพาทตกเป็นของบิดาจำเลยแล้ว จำเลยเป็นเพียงผู้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแทน
โจทก์นำสืบว่า เมื่อแบ่งทรัพย์สินกันแล้วจำเลยคงอาศัยอยู่ที่บ้านของโจทก์โดยอ้างว่ายังไม่มีที่อยู่ ต่อมาจำเลยพาหญิงอื่นเข้ามาอยู่ด้วยและเกิดทะเลาะกับโจทก์เมื่อเดือนธันวาคม 2527โดยจำเลยได้ไล่โจทก์กับบุตรให้ไปอยู่ที่อื่น โจทก์จึงไล่จำเลยบ้างจำเลยไม่ไปอ้างว่าทรัพย์พิพาทตกเป็นของบิดาจำเลยแล้ว และบิดาจำเลยได้นำสัญญาประนีประนอมยอมความมาให้โจทก์ดู โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า จากการนำสืบของโจทก์ที่ได้ความว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์พิพาททั้งหมดต่อมาโจทก์กับจำเลยเกิดทะเลาะกัน จำเลยไล่โจทก์ให้ออกจากบ้านพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทรัพย์พิพาทโดยบอกกล่าวแก่โจทก์ว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์พิพาทแทนโจทก์ จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทโดยการครอบครองนั้นเห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอ้างแต่เพียงว่าจำเลยได้ครอบครองทรัพย์พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่วันที่โจทก์ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลย ไม่ได้อ้างว่าจำเลยเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ การที่จำเลยฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า จำเลยได้นำทรัพย์พิพาทไปตีใช้หนี้ให้แก่บิดาจำเลย และศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้ว จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำฟ้องของโจทก์ได้นั้น เห็นว่า เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์นั้นไปจำหน่ายจ่ายโอนได้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่จำเลยอ้างไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยออกจากบ้านพิพาท และส่งมอบทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share