แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่
ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 720,000 บาท แก่ผู้เสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายแต่ละคนถูกฉ้อโกงไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (เดิม)), 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิด 14 กรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (เดิม)), 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 14 กระทง เป็นจำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 และของต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 60,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 และของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 80,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จร่วมกันคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 80,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 120,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 และของต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันคืนเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 9 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันคืนเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 10 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไม่ได้ เพราะพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการยกเลิกพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ก็ยังคงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายจนถึงทุกวันนี้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายประการที่สองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาหรือความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เพราะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชกำหนดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้ไม่มีการสอบสวน เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 จะบัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา ก็มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดอย่างไร โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย ทุกมาตรา หรือทุกกระทงความผิดเสมอไป แม้เดิมแจ้งข้อหาหนึ่งไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นความผิดตามข้อหาอื่นด้วย ก็สามารถแจ้งข้อหาใหม่นี้เพิ่มเติมจากข้อหาเดิมในระหว่างสอบสวนได้ หรือแม้แต่ว่าถ้ามิได้แจ้งข้อหาใหม่เพิ่มเติม แต่ได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาใหม่ไปด้วย ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดตามข้อหาใหม่นี้แล้ว อันทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามข้อหาใหม่นี้ได้ คดีนี้แม้ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ในการสอบสวนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 พันตำรวจตรีสนิท พนักงานสอบสวน จะแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่เพียงว่าร่วมกันกระทำการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็ปรากฏในบันทึกคำให้การทั้งสองฉบับดังกล่าวว่า ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2542 พันตำรวจตรีสนิทได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อหาใหม่นี้ ย่อมเป็นการสอบสวนข้อหาใหม่นี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดข้อหานี้ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจเป็นความผิดรวม 14 กรรม ได้ เพราะผู้เสียหายมีเพียง 10 คน เท่านั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดรวม 10 กรรม ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง เป็นจำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5